การรับเงินของพระ
เทศนาหลวงพ่อฤาษีลิงดำ แก่ภิกษุสามเณร
เรื่องวินัยสงฆ์เกี่ยวกับการรับเงินของพระ
เมื่อ 17 ก.ย. 2518
ทีนี้มาถึงสิกขาบทข้อที่ ๘. พระวินัยกล่าวว่า “อนึ่งภิกษุใดรับก็ดีให้รับก็ดีซึ่งทองเงินหรือยินดีทองเงินอันเขาเก็บไว้ให้เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”
“สำหรับสิกขาบทนี้ขอท่านทั้งหลายจงใคร่ครวญให้ดี ทั้งนี้ในที่บางแห่ง หรือในเขตบางเขต เขาไม่มีโยมรับเงินรับทองกัน และชาวบ้านเขาก็เห็นกันว่าพระที่ไม่รับเงินรับทอง เป็นพระที่เคร่งครัดมัธยัสถ์ ถึงกับมีการรังเกียจพระที่รับเงินรับทอง แต่ตามความเข้าใจของผมหรือว่าพระมหาเถรานุเถระฝ่ายวิปัสสนาธุระ มีความเข้าใจกันดี อันนี้เพราะอะไรเพราะว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า รับเองก็ดี ใช้ให้คนอื่นรับก็ดี หรือมีความรู้สึกอยู่ว่าเขาเก็บไว้เพื่อเรา และเราก็ถือว่าทรัพย์สินส่วนนั้นมันเป็นของเรา ท่านจะพิจารณาเห็นว่าต้องอาบัติเสมอกันคือ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ทีนี้พระบางท่านเวลาเขามาถวายไม่รับ ไม่รับเอง แต่ว่าให้ลูกศิษย์รับ ให้มอบไว้กับลูกศิษย์ แต่ว่าใส่ย่ามเถอะไม่ยอมรับ มือไม่รับ อันนี้ท่านทั้งหลายที่ฟังแล้วเห็นว่ามันพ้นไหม เห็นว่ามันพ้นหรือไม่พ้น มันพ้นตรงไหนกัน รับเองก็ดี ให้คนอื่นรับก็ดี หรือว่าคนอื่นที่เขาเก็บไว้ให้เราที่เรียกว่า ไวยาวัจกร
แต่เรามีความรู้สึกว่าทรัพย์สินทั้งหลายเหล่านั้นมันเป็นทรัพย์ของเราก็อาบัติ นิสสัคคิยปาจิตตีย์
นี่ที่ผมย้ำมากๆ ก็เพราะความเข้าใจผิดของปวงชนและพระมีมาก ถ้าตนเองไม่รับเงิน แล้วต่อหน้าคนไม่รับ ลับหลังคนรับ หยิบ หรือต่อหน้าคนไม่รับ ลับหลังคนไม่รับ คนอื่นเก็บเอาไว้ให้ ก็รู้ว่านั่นเงินของเรา มีจำนวนเท่านั้นเท่านี้ จิตใจยังผูกพันอยู่ ไม่ได้พ้นโทษไปเลย ถ้ามันยังไม่พ้นโทษอยู่ นี่ตามความรู้สึกของผม หรือว่าครูบาอาจารย์หลายท่านด้วยกัน ในสมัยโบราณ ผมเรียกว่าโบราณเพราะว่าเวลากาลผ่านมาประมาณ 40 ปีเศษ ในสมัยที่ผมบวชใหม่ๆ ที่พูดนี้เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2518 ผมบวชผ่านเวลากาลผ่านมาได้ 40 ปีเศษ ถอยหลังไป 40 ปี ผมเรียกว่าโบราณ คือมันเก่าแล้ว คนสมัยนั้นหัวยังเก่าอยู่ ท่านบอกว่า การที่เราไม่รับต่อหน้าคน แต่ว่าให้คนอื่นรับ หรือว่าคนอื่นรับเงินแล้วเขาเก็บไว้เพื่อตนยินดีอยู่ แต่เราไม่ยอมรับ จิตคิดว่าเรามีความดีที่ไม่รับเงิน ท่านบอกว่าคนที่มี อารมณ์อย่างนั้นมีกิเลสหนาแน่นที่สุด เพราะว่าเป็นการหลอกลวงชาวบ้านเขา ทำตนเป็นคนดี แต่ความจริงไม่ได้ดีตามนั้นแต่จิตใจกับเลวทราม
กับท่านผู้รับเองให้ชาวบ้านเขารู้ ไหนๆ เราจะรับแล้ว เราก็ยอมรับเสียต่อหน้าชาวบ้าน เพื่อว่าชาวบ้านเขาจะได้ทราบว่าพระองค์นี้รับเงิน ในเมื่อเขารู้ว่าแล้วเรารับเงิน เขาจะนิยมเราหรือไม่นิยม เป็นเรื่องของเขา เราไม่เกี่ยว เราเปิดเผยให้เขารับรู้เลยดีกว่า ว่าเรารับเงินรับทอง ถ้าหากว่าเราไม่รับต่อหน้าชาวบ้านแต่ว่าภายหลังเราเก็บเอง หรือบุคคลอื่นเก็บ แล้วก็ทราบว่าเงินของเรา เรามีอยู่ เงินและทองของเรามีอยู่ เราถือสิทธิ์อยู่ ยินดีอยู่ ถ้าชาวบ้านเขาทราบทีหลัง เราจะเสียสองชั้น คือเสียในเรื่องหลอกลวงชาวบ้าน และก็ต้องโทษที่พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติไว้
ดังนั้นในการรับเงินและทองเอง แต่ทว่าจงอย่ายินดีในเงินและทองนั้นว่าเป็นทรัพย์สินของเราโดยเฉพาะ พึงทำใจของเราให้มีความรู้สึกอยู่เสมอว่าเวลานี้เราเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เป็นลูกของพระพุทธเจ้า เงินและทองที่เขาจะถวายเรา เขาก็ถวายเราในฐานะที่เป็นพระ ดังนั้นเวลาที่เขาจะถวายเขาก็บอกว่า ใช้ตามสมควรแก่สมณบริโภค คือเราต้องคิดไว้เสมอว่าเงินทองทั้งหลายเหล่านี้เราจะใช้บำรุงตัวเราเองตามความจำเป็น ถ้าเหลือนอกจากนั้นเราจะเอาเงินจำนวนนี้
ไปสร้างบุญสร้างกุศล ให้เป็นประโยชน์แก่บรรดาสาธารณชน เป็นส่วนสาธารณะ นี่เรียกว่า แม้จะก่อสร้างถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนา หรือสร้างสิ่งตามความจำเป็นเพื่อความสะดวกของบรรดานักบวชทั้งหลายหรือว่านักบุญทั้งหลาย อย่างนี้จิตใจของเราไม่ยึดถือว่าเงินนี้มันเป็นของเราโดยเฉพาะ ถือว่าเป็นเงินของพระพุทธศาสนา เป็นเงินของพระ เขาถวายพระ ถ้าเราไม่บวชไม่มีใครเขาให้ จะไปเอาเงินจากเขา บางทีต้องมีโฉนดที่ดินไปให้เขารับรอง ดีไม่ดีเขาก็ไม่ยอมให้ นี่ทำใจของเราให้สบายแบบนี้ จงอย่าติดในลาภ อย่าติดในเงินและทอง อย่างนี้ผมถือว่า เราทนหน้าด้านแต่ว่าใจของเราไม่ด้าน ยอมรับต่อหน้าชาวบ้าน เพื่อเป็นการประกาศความจริงว่าเรามีความจำเป็นจะต้องใช้
สิกขาบทนี้แหล่ะท่านบรรดาสหธรรมิกทั้งหลาย ตามความเข้าใจของผม ผมคิดว่าท่านสมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบว่าต่อไปในภายภาคหน้าคนที่จะพะเน้าพะนอพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา เหมือนในสมัยที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ไม่มี องค์สมเด็จพระชินสีห์จึงได้ทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสในสมัยก่อนหน้าพระปรินิพพาน ว่า
“อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เมื่อตถาคตปรินิพพานไปแล้ว สิกขาบทบางสิกขาบทซึ่งไม่ใหญ่โตนัก ถ้าหากว่าไม่เหมาะกับกาลสมัย ภิกษุสงฆ์ทั้งหลายจะเห็นว่าไม่สมควร จะเพิกถอนเสียก็ได้”
นี่เป็นพระพุทธประสงค์ขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา แต่ด้วยว่าในเมื่อเป็นคำดำรัสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครที่ไหนจะยอมเพิกถอน ก็มีความเคารพในพระองค์ เราสู้เอาหน้าด้านแต่ใจสะอาดดีกว่า ดีกว่าต่อหน้าคนไม่รับ แต่ลับหลังรู้ค่าของเงิน รู้ค่าของทอง รู้จักใช้เงินและทองให้เป็นประโยชน์ส่วนตนและเป็นประโยชน์ส่วนรวม อย่างนี้เขาเรียกว่าหน้าดี แต่ใจด้าน ขอให้ท่านทั้งหลายเลือกเอาอย่างหนึ่ง จะยอมหน้าด้านแต่ว่าใจดี หรือว่าจะเอาหน้าดีแต่ใจด้านกัน ท่านทั้งหลายจงอย่าลืมว่า ถ้าเราตายไปแล้ว ร่างกายหรือหน้าก็ดี ตัวก็ดี มันไม่ได้ไปกับเราด้วย ส่วนที่จะไปจริงๆ มันก็คือใจ แต่จะไปเสวยความสุขหรือความทุกข์มันก็อยู่ที่ใจ หน้าด้านแต่ใจดี แสดงว่าใจสะอาด หน้าดีแต่ใจด้านแสดงว่าหน้าสะอาดแต่ว่าใจเสีย ใจสกปรก ทีนี้ถ้าใจของเราสกปรกเวลาตายเราก็เอาความสกปรกไป ส่วนที่สกปรกชาวสวรรค์เขาไม่ชอบ ชาวสวรรค์เขาต้องการความสะอาด เราอยู่ไม่ได้ คนสกปรกต้องไปอยู่ในอบายภูมิทั้ง 4 คือ ในนรก หรือไปเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน
นี่ขอบรรดาเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งหลายพากันวินิจฉัยตามนี้ แล้วก็เลือกปฏิบัติเอา แต่สำหรับผมน่ะขอยอมรับว่าผมหน้าด้านแน่ ในเรื่องการรับเงินรับทอง แต่ใจของผมผมไม่ยอมด้านในเรื่องนี้ เพราะว่าผมไม่ยอมเอาเงินที่เขาเอามาถวายเป็นประโยชน์ส่วนตน ซื้อไร่ซื้อนาซื้อบ้านให้เขาเช่า อะไรพวกนี้ผมไม่มี ออกเงินให้กู้ผมไม่มี ได้มาเท่าไรเหลือกินเหลือใช้ สร้างถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนา และให้ความสะดวกกับบรรดานักบุญทั้งหลาย อย่างนี้ผมยอมหน้าเสียเพื่อรักษากำลังใจของตัวเอง ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่ยกยอตัวเอง พูดตามความเป็นจริง ครูบาอาจารย์ท่านก็ปฏิบัติมาแบบนี้ เพราะสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันหลีกเลี่ยงกันไม่ได้ แล้วทำไมเราจะมาทำหน้าดีใจเสียใจเพื่อประโยชน์อะไร พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฎฐา มโนมยา “ธรรมทั้งหลาย มีใจถึงก่อนมีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ”
ถ้าใจของเราเลวแต่ว่าหน้าดีมันจะมีประโยชน์อะไร สู้ทำหน้าของเราให้เป็นหน้าด้านแต่ใจสะอาด ดีกว่าหน้าสะอาดใจด้าน เลือกกันเอานะ ผมไม่ได้บังคับ ยังไงๆ ก็บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาเราเป็นปูชนียบุคคล อย่าหลอกลวงชาวบ้านเขาเลยบรรดาเพื่อนทั้งหลาย
ต่อไปเป็นสิกขาบทข้อที่ 9 ...............”