วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2567
วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2567
ทำไมพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ จึงได้สถาปนานามราชวงศ์ว่า "จักรี" เพราะตามธรรมเนียมของราชวงศ์ที่ผ่านมาในยุคกรุงศรีอยุธยานั้น มักจะสถาปนานามราชวงศ์มาจากพื้นเพเดิมของปฐมกษัตริย์เป็นหลัก
อาทิเช่นราชวงศ์ละโว้หรือที่เรียกกันในภายหลังว่า "ราชวงศ์อู่ทอง" นั้น ก็อ้างมาจากพื้นเพเดิมของราชวงศ์ที่มาจากเมืองลวปุระหรือกรุงละโว้ - จ.ลพบุรี - ในปัจจุบัน และส่วนที่มาเรียกว่าวงศ์อู่ทองในภายหลัง ก็เพราะเรียกตามปฐมวงศ์อย่างพระเจ้าอู่ทองนั่นเอง หรือจะเป็นราชวงศ์สุโขไทของสมเด็จพระมหาธรรมราชาและสมเด็จพระนเรศนั้น ก็อ้างจากความที่ทั้งสองพระองค์ทรงมีสายเลือดมาแต่กษัตริย์กรุงสุโขไทแต่เดิมนั่นเองล่ะครับ
เพราะฉะนั้น ผมจึงจะมาขอเล่ากล่าวถึงที่มาของนามราชวงศ์จักรี ซึ่งปรากฏพบว่ามีอยู่ ๒ กระแสหลัก
๑. พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ทรงยึดเอาพระราชทินนามเมื่อครั้งเป็น "เจ้าพระยาจักรรีศรีองครักษ์" - อัครเสนาบดีแห่งกรมมหาดไทย - มาเป็นนามราชวงศ์ของพระองค์
๒. พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ นำคำว่า "จักร" และ "ตรี" มาสนธิรวมกันเป็นคำว่า "จักรี" ซึ่งทั้งจักรและตรีนั้นถือว่าเป็นเทพศาสตราของพระวิษณุหรือ "พระนารายณ์" ด้วยกันทั้งสองชิ้น ดังมีปรากฏในคำพากย์รามเกียรติ์สมัยกรุงเก่าความที่ว่า “สี่มือถือทาย สังข์จักรคทาธาตรี” และเรายังพบด้วยว่าบรรดาเทวรูปของพระนารายณ์ในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยานั้นล้วนแต่ถือตรีแทนที่จะเป็นคทาอย่างในยุคก่อนๆ
ดังนั้น เชื่อได้ว่า พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ต้องการทรงประกาศว่า ราชวงศ์ของพระองค์คือ "เทวกษัตริย์ผู้ทรงจักรและตรี" หรือทรงเป็น "นารายณ์อวตาร" ตามคติเทวราชาในศาสนาพราหมณ์ที่ยึดถือกันมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยานั่นเอง และไม่เพียงเท่านั้น หากเราสังเกตนามกรุงเทพมหานครให้ดีๆแล้วจะพบว่า กรุงเทพก็คือ "กรุงศรีอยุธยาใหม่" นั่นเอง ดังปรากฏในนามว่า
"กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์"
ซึ่งในวรรคที่ว่า "มหินทรายุธยา" นี้ก็สอดคล้องกับนามพระนครกรุงศรีอยุธยาที่มีความหมายตรงกันว่า "นครอันมิอาจต่อยุทธได้"
สรุปแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ทรงสถาปนากรุงเทพในฐานะ "กรุงศรีอยุธยาใหม่" และทรงสถาปนานามราชวงศ์จักรีเพื่อทรงประกาศว่าราชวงศ์ของพระองค์นั้นเป็น "เทวกษัตริย์ผู้ทรงจักรและตรี" หรือว่า "นารายณ์อวตาร" ดุจเดียวกับบรรพกษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยพร้อมกันนั่นเองครับ
วันเสาร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2567
วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2567
วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2567
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)