วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การรับเงินของพระ เทศนาหลวงพ่อฤาษีลิงดำ แก่ภิกษุสามเณร เรื่องวินัยสงฆ์เกี่ยวกับการรับเงินของพระ เมื่อ 17 ก.ย. 2518

การรับเงินของพระ
เทศนาหลวงพ่อฤาษีลิงดำ แก่ภิกษุสามเณร
เรื่องวินัยสงฆ์เกี่ยวกับการรับเงินของพระ
เมื่อ 17 ก.ย. 2518
ทีนี้มาถึงสิกขาบทข้อที่ ๘. พระวินัยกล่าวว่า “อนึ่งภิกษุใดรับก็ดีให้รับก็ดีซึ่งทองเงินหรือยินดีทองเงินอันเขาเก็บไว้ให้เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”
“สำหรับสิกขาบทนี้ขอท่านทั้งหลายจงใคร่ครวญให้ดี ทั้งนี้ในที่บางแห่ง หรือในเขตบางเขต เขาไม่มีโยมรับเงินรับทองกัน และชาวบ้านเขาก็เห็นกันว่าพระที่ไม่รับเงินรับทอง เป็นพระที่เคร่งครัดมัธยัสถ์ ถึงกับมีการรังเกียจพระที่รับเงินรับทอง แต่ตามความเข้าใจของผมหรือว่าพระมหาเถรานุเถระฝ่ายวิปัสสนาธุระ มีความเข้าใจกันดี อันนี้เพราะอะไรเพราะว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า รับเองก็ดี ใช้ให้คนอื่นรับก็ดี หรือมีความรู้สึกอยู่ว่าเขาเก็บไว้เพื่อเรา และเราก็ถือว่าทรัพย์สินส่วนนั้นมันเป็นของเรา ท่านจะพิจารณาเห็นว่าต้องอาบัติเสมอกันคือ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ทีนี้พระบางท่านเวลาเขามาถวายไม่รับ ไม่รับเอง แต่ว่าให้ลูกศิษย์รับ ให้มอบไว้กับลูกศิษย์ แต่ว่าใส่ย่ามเถอะไม่ยอมรับ มือไม่รับ อันนี้ท่านทั้งหลายที่ฟังแล้วเห็นว่ามันพ้นไหม เห็นว่ามันพ้นหรือไม่พ้น มันพ้นตรงไหนกัน รับเองก็ดี ให้คนอื่นรับก็ดี หรือว่าคนอื่นที่เขาเก็บไว้ให้เราที่เรียกว่า ไวยาวัจกร
แต่เรามีความรู้สึกว่าทรัพย์สินทั้งหลายเหล่านั้นมันเป็นทรัพย์ของเราก็อาบัติ นิสสัคคิยปาจิตตีย์
นี่ที่ผมย้ำมากๆ ก็เพราะความเข้าใจผิดของปวงชนและพระมีมาก ถ้าตนเองไม่รับเงิน แล้วต่อหน้าคนไม่รับ ลับหลังคนรับ หยิบ หรือต่อหน้าคนไม่รับ ลับหลังคนไม่รับ คนอื่นเก็บเอาไว้ให้ ก็รู้ว่านั่นเงินของเรา มีจำนวนเท่านั้นเท่านี้ จิตใจยังผูกพันอยู่ ไม่ได้พ้นโทษไปเลย ถ้ามันยังไม่พ้นโทษอยู่ นี่ตามความรู้สึกของผม หรือว่าครูบาอาจารย์หลายท่านด้วยกัน ในสมัยโบราณ ผมเรียกว่าโบราณเพราะว่าเวลากาลผ่านมาประมาณ 40 ปีเศษ ในสมัยที่ผมบวชใหม่ๆ ที่พูดนี้เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2518 ผมบวชผ่านเวลากาลผ่านมาได้ 40 ปีเศษ ถอยหลังไป 40 ปี ผมเรียกว่าโบราณ คือมันเก่าแล้ว คนสมัยนั้นหัวยังเก่าอยู่ ท่านบอกว่า การที่เราไม่รับต่อหน้าคน แต่ว่าให้คนอื่นรับ หรือว่าคนอื่นรับเงินแล้วเขาเก็บไว้เพื่อตนยินดีอยู่ แต่เราไม่ยอมรับ จิตคิดว่าเรามีความดีที่ไม่รับเงิน ท่านบอกว่าคนที่มี อารมณ์อย่างนั้นมีกิเลสหนาแน่นที่สุด เพราะว่าเป็นการหลอกลวงชาวบ้านเขา ทำตนเป็นคนดี แต่ความจริงไม่ได้ดีตามนั้นแต่จิตใจกับเลวทราม
กับท่านผู้รับเองให้ชาวบ้านเขารู้ ไหนๆ เราจะรับแล้ว เราก็ยอมรับเสียต่อหน้าชาวบ้าน เพื่อว่าชาวบ้านเขาจะได้ทราบว่าพระองค์นี้รับเงิน ในเมื่อเขารู้ว่าแล้วเรารับเงิน เขาจะนิยมเราหรือไม่นิยม เป็นเรื่องของเขา เราไม่เกี่ยว เราเปิดเผยให้เขารับรู้เลยดีกว่า ว่าเรารับเงินรับทอง ถ้าหากว่าเราไม่รับต่อหน้าชาวบ้านแต่ว่าภายหลังเราเก็บเอง หรือบุคคลอื่นเก็บ แล้วก็ทราบว่าเงินของเรา เรามีอยู่ เงินและทองของเรามีอยู่ เราถือสิทธิ์อยู่ ยินดีอยู่ ถ้าชาวบ้านเขาทราบทีหลัง เราจะเสียสองชั้น คือเสียในเรื่องหลอกลวงชาวบ้าน และก็ต้องโทษที่พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติไว้
ดังนั้นในการรับเงินและทองเอง แต่ทว่าจงอย่ายินดีในเงินและทองนั้นว่าเป็นทรัพย์สินของเราโดยเฉพาะ พึงทำใจของเราให้มีความรู้สึกอยู่เสมอว่าเวลานี้เราเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เป็นลูกของพระพุทธเจ้า เงินและทองที่เขาจะถวายเรา เขาก็ถวายเราในฐานะที่เป็นพระ ดังนั้นเวลาที่เขาจะถวายเขาก็บอกว่า ใช้ตามสมควรแก่สมณบริโภค คือเราต้องคิดไว้เสมอว่าเงินทองทั้งหลายเหล่านี้เราจะใช้บำรุงตัวเราเองตามความจำเป็น ถ้าเหลือนอกจากนั้นเราจะเอาเงินจำนวนนี้
ไปสร้างบุญสร้างกุศล ให้เป็นประโยชน์แก่บรรดาสาธารณชน เป็นส่วนสาธารณะ นี่เรียกว่า แม้จะก่อสร้างถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนา หรือสร้างสิ่งตามความจำเป็นเพื่อความสะดวกของบรรดานักบวชทั้งหลายหรือว่านักบุญทั้งหลาย อย่างนี้จิตใจของเราไม่ยึดถือว่าเงินนี้มันเป็นของเราโดยเฉพาะ ถือว่าเป็นเงินของพระพุทธศาสนา เป็นเงินของพระ เขาถวายพระ ถ้าเราไม่บวชไม่มีใครเขาให้ จะไปเอาเงินจากเขา บางทีต้องมีโฉนดที่ดินไปให้เขารับรอง ดีไม่ดีเขาก็ไม่ยอมให้ นี่ทำใจของเราให้สบายแบบนี้ จงอย่าติดในลาภ อย่าติดในเงินและทอง อย่างนี้ผมถือว่า เราทนหน้าด้านแต่ว่าใจของเราไม่ด้าน ยอมรับต่อหน้าชาวบ้าน เพื่อเป็นการประกาศความจริงว่าเรามีความจำเป็นจะต้องใช้
สิกขาบทนี้แหล่ะท่านบรรดาสหธรรมิกทั้งหลาย ตามความเข้าใจของผม ผมคิดว่าท่านสมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบว่าต่อไปในภายภาคหน้าคนที่จะพะเน้าพะนอพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา เหมือนในสมัยที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ไม่มี องค์สมเด็จพระชินสีห์จึงได้ทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสในสมัยก่อนหน้าพระปรินิพพาน ว่า
“อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เมื่อตถาคตปรินิพพานไปแล้ว สิกขาบทบางสิกขาบทซึ่งไม่ใหญ่โตนัก ถ้าหากว่าไม่เหมาะกับกาลสมัย ภิกษุสงฆ์ทั้งหลายจะเห็นว่าไม่สมควร จะเพิกถอนเสียก็ได้”
นี่เป็นพระพุทธประสงค์ขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา แต่ด้วยว่าในเมื่อเป็นคำดำรัสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครที่ไหนจะยอมเพิกถอน ก็มีความเคารพในพระองค์ เราสู้เอาหน้าด้านแต่ใจสะอาดดีกว่า ดีกว่าต่อหน้าคนไม่รับ แต่ลับหลังรู้ค่าของเงิน รู้ค่าของทอง รู้จักใช้เงินและทองให้เป็นประโยชน์ส่วนตนและเป็นประโยชน์ส่วนรวม อย่างนี้เขาเรียกว่าหน้าดี แต่ใจด้าน ขอให้ท่านทั้งหลายเลือกเอาอย่างหนึ่ง จะยอมหน้าด้านแต่ว่าใจดี หรือว่าจะเอาหน้าดีแต่ใจด้านกัน ท่านทั้งหลายจงอย่าลืมว่า ถ้าเราตายไปแล้ว ร่างกายหรือหน้าก็ดี ตัวก็ดี มันไม่ได้ไปกับเราด้วย ส่วนที่จะไปจริงๆ มันก็คือใจ แต่จะไปเสวยความสุขหรือความทุกข์มันก็อยู่ที่ใจ หน้าด้านแต่ใจดี แสดงว่าใจสะอาด หน้าดีแต่ใจด้านแสดงว่าหน้าสะอาดแต่ว่าใจเสีย ใจสกปรก ทีนี้ถ้าใจของเราสกปรกเวลาตายเราก็เอาความสกปรกไป ส่วนที่สกปรกชาวสวรรค์เขาไม่ชอบ ชาวสวรรค์เขาต้องการความสะอาด เราอยู่ไม่ได้ คนสกปรกต้องไปอยู่ในอบายภูมิทั้ง 4 คือ ในนรก หรือไปเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน
นี่ขอบรรดาเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งหลายพากันวินิจฉัยตามนี้ แล้วก็เลือกปฏิบัติเอา แต่สำหรับผมน่ะขอยอมรับว่าผมหน้าด้านแน่ ในเรื่องการรับเงินรับทอง แต่ใจของผมผมไม่ยอมด้านในเรื่องนี้ เพราะว่าผมไม่ยอมเอาเงินที่เขาเอามาถวายเป็นประโยชน์ส่วนตน ซื้อไร่ซื้อนาซื้อบ้านให้เขาเช่า อะไรพวกนี้ผมไม่มี ออกเงินให้กู้ผมไม่มี ได้มาเท่าไรเหลือกินเหลือใช้ สร้างถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนา และให้ความสะดวกกับบรรดานักบุญทั้งหลาย อย่างนี้ผมยอมหน้าเสียเพื่อรักษากำลังใจของตัวเอง ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่ยกยอตัวเอง พูดตามความเป็นจริง ครูบาอาจารย์ท่านก็ปฏิบัติมาแบบนี้ เพราะสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันหลีกเลี่ยงกันไม่ได้ แล้วทำไมเราจะมาทำหน้าดีใจเสียใจเพื่อประโยชน์อะไร พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฎฐา มโนมยา “ธรรมทั้งหลาย มีใจถึงก่อนมีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ”
ถ้าใจของเราเลวแต่ว่าหน้าดีมันจะมีประโยชน์อะไร สู้ทำหน้าของเราให้เป็นหน้าด้านแต่ใจสะอาด ดีกว่าหน้าสะอาดใจด้าน เลือกกันเอานะ ผมไม่ได้บังคับ ยังไงๆ ก็บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาเราเป็นปูชนียบุคคล อย่าหลอกลวงชาวบ้านเขาเลยบรรดาเพื่อนทั้งหลาย
ต่อไปเป็นสิกขาบทข้อที่ 9 ...............”

วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ขอเชิญร่วมปฏิบัติธรรม เวียนเทียน ถวายเป็นพุทธบูชา เนื่องในวันสำคัญของโลก “วันวิสาขบูชา” ณ สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดแห่งที่ ๒๘ วัดวีระโชติธรรมาราม เมือง ฉะเชิงเทรา ระหว่างวันที่ ๓๐ พฤษภาคม - ๑ มิถุนายน ๒๕๕๘




ขอเชิญร่วมปฏิบัติธรรม เวียนเทียน ถวายเป็นพุทธบูชา
เนื่องในวันสำคัญของโลก “วันวิสาขบูชา”
ณ สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดแห่งที่ ๒๘
วัดวีระโชติธรรมาราม เมือง ฉะเชิงเทรา
ระหว่างวันที่ ๓๐ พฤษภาคม - ๑ มิถุนายน ๒๕๕๘


ติดต่อสอบถาม โทร. ๐๘๔ ๙๗๗ ๓๓๓๙

วันที่ ๑ มิ.ย. พิธีสะเดาะเคราะห์ ต่อดวงชะตา
โดยเขียน ชื่อ นามสกุล วันเดือนปี(เกิด) ร่วมพิธี

วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง "..หนีนรก.."

ธรรมะ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง
"..หนีนรก.."
ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย ตอนนี้เป็นตอนที่ ๒
ก็มาพูดถึงลักษณะแห่งการหนีบาปกันต่อไป
แต่ขอย้ำไว้ก่อนว่าการที่จะหนีอบายภูมิทั้ง ๔ คือ ความไม่เกิดเป็นสันต์นรก
เป็นเปรต เป็นอสรูกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน ต่อไปนั้น
ต้องกำจัดสังโยชน์ที่เป็นอารมชั่ว ๓ ประการ ให้พ้นจากใจ
อารมชั่วทั้ง ๓ ประการ ขอย้ำไว้ตอนนี้ก่อน ตอนต้น จะได้ไม่เผลอ
ข้อที่ ๑ สักกายทิฏฐิ คือมีความรู้สึกว่าชีวิตนนี้มันจะไม่ตาย
ให้ตัดทิ้งไป ให้มีความรู้สึกว่ามันจะต้องตายแน่
และไม่ประมาทในชีวิต คิดทำความดีต่อไป
ข้อที่ ๒ วิจิกิจฉา ความสงสัยในความดีของ พระพุทธเจ้า พระธรรม
และพระอริยสงฆ์ ข้อนี้ตัดทิ้งไป ให้ยอมรับนับถือ พระพุทธเจ้า พระธรรม
และพระอริยสงฆ์
ข้อที่ ๓ สีลัพพตปรามาส คือ การปฏิบัติในศีลไม่แน่นอน ไม่จริงจัง
อันนี้ให้ตัดทิ้งไป หันกลับมาปฏิบัติในศีลให้แน่นอน ให้จริงจัง
ฆารวาทเพียงแค่ ศีล ๕ หรือ กรรมบท ๑๐ ใช้ได้แล้ว
สำหรับภิษุสำเณรก็เป็นศีลของท่าน ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้ทุกคน
ขอบรรดาท่านพุทธสาสนิกชล มีความมั่นใจได้ว่า
จะตายเมื่อไหร่ก็ตามที เราไม่ลงอบายภูมิเป็นแน่

วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

การทำหมันสุนัข โดย พระเดชพระคุณพระราชพรหมยาน(หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) วัดท่าซุง อุทัยธานี

การทำหมันสุนัข
โดย พระเดชพระคุณพระราชพรหมยาน(หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) วัดท่าซุง อุทัยธานี

ผู้ถาม : หลวงพ่อคะ อย่างทำหมันหมาบาปไหมคะ
หลวงพ่อ : ทำหมันหมา ฉันฟังนึกว่าจับหมัดหมา ทำหมัดเขาทำกันยังไง
ผู้ถาม : การตอนน่ะคะ
หลวงพ่อ : ตอนก็ตอนบอกทำหมัน เอ..ต้องไปถามหมามันก่อนซิ หมามันพอใจไหมล่ะ
ผู้ถาม : (หัวเราะ)
หลวงพ่อ : เอ้า จริงๆ ต้องไปถามมันก่อน ถ้าหมาพอใจอันนี้ไม่บาป
ผู้ถาม : แล้วจะรู้ได้ยังไงคะว่าหมามันพอใจ
หลวงพ่อ : อ้าว ก็ต้องไปเรียนภาษาหมาก่อนซิ
ผู้ถาม : (หัวเราะ)
หลวงพ่อ : การตอนสัตว์นี่น่ะ ท่านพูดไว้ใน ตติยสามน ตายแล้วต้องตกนรกก่อน เพราะเป็นการทรมานสัตว์ พอออกจากนรกก็มาเป็นเปรต ออกจากเปรตมาเป็นอสุรกาย ออกจากอสุรกายก็มาเป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะถูกทำลายเพศ ใช่ไหม
พอพ้นจากนั้นแล้วก็มาเป็น บัณเฑาะก์ มี 2 เพศ มีทั้งเพศผู้ชาย และ ผู้หญิง จากนั้นก็มาเป็นกะเทย แล้วจึงมาเป็นคนปกติ
ผู้ถาม : แล้วถ้าเราทำหมันตัวเองจะบาปไหมคะ
หลวงพ่อ : ทำหมันตัวเองใครเขาจะไปว่าล่ะ ไม่บาปหรอก อันนี้เราพอใจต่างหากล่ะ ช่วยทำหมันให้ทีเถอะ ฉันลูกมากๆ ไม่เป็นเรื่องแล้ว

ผู้ถาม : ถ้ากันหมาไม่ให้ผสมกันเล่าคะ
หลวงพ่อ : นี่ล่ะ ไฟไหม้บ้านกันหลายหนก็แบบนี้แหละ มีตากับยายคู่หนึ่งเขาฝากคนไปถามปัญหา พระกาฬ ว่า เขาทั้งสองทำอะไรมา ไฟมันจึงไหม้บ้านอยู่เสมอ
พระกาฬ ก็บอกคนที่ไปถามว่า
สมัยชาติก่อนแกมีลูกสาว แต่ว่าหวงไม่ยอมให้แต่งงาน ใครมาขอก็ไม่ให้ เหตุเพราะอาศัยการตัดทอนกำลังใจในด้านความรักของเขา ชาตินี้มาไฟจึงไหม้บ้านเรื่อยๆ
ฉะนั้น คุณก็ต้องระวังนะ

ที่มา : หนังสือธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ 371 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 หน้าที่ 96

วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558

คาถามหาเสน่ห์  โดย พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) จาก หนังสือ แนะวิธีหนีนรกแบบง่ายๆ

คาถามหาเสน่ห์ 
โดย พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)
จาก หนังสือ แนะวิธีหนีนรกแบบง่ายๆ

ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย สำหรับตอนนี้เป็นตอนที่ ๑๖ สำหรับตอนนี้เป็นตอนที่ ๑๖ สำหรับตอนที่ ๑๖ นี้ ก่อนจะพูดเรื่องอื่นก็ขอเตือนกันไว้ก่อน ว่ารายการนี้เป็นรายการ "หนีนรก" ตอนที่ ๑๕ หนีสิมพลีนรก แต่ตอนที่ ๑๖ นี้ หนีทุกขุม ทั้งนี้เพราะอะไร? เพราะว่าเป็นเรื่องของวาจาที่ต้องพูด แต่ก่อนจะพูดถึงวาจาก็บอกลีลาการหนีนรกกันก่อน การหนีนรกขอถือตามแบบฉบับขององค์สมเด็จพระชินวร คือ พระพุทธเจ้า ที่ตรัสว่า

"ถ้าบุคคลใดละสังโยชน์ ๓ ประการได้ หรือว่าตัดสังโยชน์ ๓ ประการได้ ท่านผู้นั้นบาปเก่าทั้งหมดตามไม่ทัน ไม่สามารถลงโทษได้ แล้วก็ท่านผู้นั้นจะไม่มีการตกนรก ไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน ต่อไปอีกทุกชาติที่เกิด จะเกิดเมื่อไร จะตายเมื่อไรก็ตาม จะวนเวียนแต่เฉพาะเป็นมนุษย์ เทวดากับพรหม และต่อไปถ้ามีกำลังเต็มก็ไปนิพพาน"

การตัดสังโยชน์ ๓ ประการ ก็ขอบอกกันแบบง่ายๆ ย่อๆ พูดมากก็ฟังยาก วิธีตัดง่ายๆ ก็คือ

๑. ให้มีความรู้สึกเสมอว่าชีวิตนี้มันต้องตาย เราไม่ประมาทในชีวิต คิดว่าอาจจะตายวันนี้ไว้เสมอ และก็เวลาเดียวกันนั้นก็ตั้งอารมณ์แห่งความดีทางไปสวรรค์ คือเกาะสิ่งที่มีกำลังใหญ่ คือพระพุทธเจ้า ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้าด้วยความจริงใจ ยอมรับนับถือพระธรรมและพระอริยสงฆ์ด้วยความจริงใจ หลังจากนั้นก็ทรงศีลห้าให้บริสุทธิ์ ถ้ามีกำลังใจละเอียดดีขึ้น ค่อยทรงกรรมบถ ๑๐ ให้บริสุทธิ์ อย่างนี้เวลาท่านเป็นมนุษย์ท่านก็มีความสุข ตายจากความเป็นมนุษย์ก็ไม่พบความทุกข์ เพราะเทวดากับพรหมไม่มีความทุกข์ ถ้ามีกำลังเต็มเมื่อไรไปนิพพานเมื่อนั้น ก็พูดกันไว้แค่นี้ก็แล้วกัน เป็นการเตือนใจบรรดาท่านพุทธบริษัท

สำหรับวันนี้ก็จะแนะนำ "คาถามหาเสน่ห์" ถ้าถามว่า "พระมีคาถามหาเสน่ห์ด้วยหรือ?" ก็ต้องตอบว่า "มี" ถ้าถามว่า "ใครเป็นครู" ก็ต้องตอบว่า "พระพุทธเจ้าเป็นครู" ถ้าจะมีคนถามว่า "พระพุทธเจ้าทรงตัดกิเลสได้แล้ว ยังมีเสน่ห์ด้วยหรือ?" ก็ต้องตอบว่า "คนไหนถ้าตัดกิเลสได้มาก เสน่ห์ก็มาก ตัดกิเลสได้น้อย เสน่ห์ก็น้อยลงมา ถ้ายังตัดกิเลสไม่ได้ไม่ได้เลย ระงับสิ่งที่ไม่เป็นเสน่ห์พยายามสร้างสิ่งที่เป็นเสน่ห์ขึ้นมา ก็มีเสน่ห์เหมือนกัน"
คำว่า "เสน่ห์" แปลว่า "ความรัก" ความรักซึ่งกันและกัน เป็นเยื่อใยแห่งความรัก ที่ดึงกำลังใจของบุคคลอื่นให้มารักเรา และก็เราเอง ถ้าคนอื่นเขาทำ เราก็รักเขาเหมือนกัน ถ้าต่างคนต่างมีเสน่ห์ บรรดาท่านพุทธบริษัท โลกนี้จะมีแต่ความสุข จะหาความทุกข์ไม่ได้ ความทุกข์จะมีบ้างก็แค่เรื่องของขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คือร่างกาย มันก็ต้องแก่ มันป่วย เป็นเรื่องธรรมดาของขันธ์ ๕ คือร่างกาย แล้วมันก็ตาย เราจะมีทุกข์อยู่บ้างเมื่อความแก่เข้ามาถึง เพราะร่างกายไม่ทรงตัว กำลังไม่ดี ความเชื่องช้าก็ปรากฎก็หนักใจอยู่นิดหนึ่ง ความป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้น มันก็มีความลำบากอยู่บ้าง มีความทุกข์อยู่บ้าง ความตายจะเข้ามาถึงก็มีความทุกข์บ้าง เพราะมีทุกขเวทนามาก แต่นอกจากอาการทั้ง ๓ อย่างนี้แล้ว เราจะมีแต่ความสุข เพราะคนที่มีเสน่ห์มากก็มีคนรักมาก ถ้าเราพบปะสังสรรค์กับสมาคมใด บุคคลใด เราเป็นคนมีเสน่ห์ สมาคมนั้นเขาไม่เกลียด ผู้ที่เกลียดก็คือว่า คนที่มีเสน่ห์ไม่เท่า เขามีเสน่ห์น้อยเกินไปมีคนรักน้อยเกินไป อาจจะมีการอิจฉาริษยากันได้ นี่เป็นของธรรมดา แต่ถ้าพบหน้ากันเข้าจริงๆ บ่อยๆ อาการอิจฉาริษยาก็จะหมดไป เหลือแต่ความรัก คาถามหาเสน่ห์นี่มีอยู่ ๔ ข้อ ๔ คำ คือ

๑. ไม่พูดปด ๒. ไม่พูดคำหยาบ
๓. ไม่พูดส่อเสียด ๔. ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล

นี่แหละเป็นคาถามหาเสน่ห์ คำว่า "คาถา" นี่มาจากภาษาบาลี แปลว่า "วาจาเป็นเครื่องกล่าว" ก็หมายถึงคำพูดที่เราพูดไปเอง คำพูดที่เราพูดออกไปนี่ ภาษาบาลี ท่านเรียกว่า "คาถา" (แต่คนไทยพูดเข้าเลยหาว่าเป็นคาถามหานิยมไปเลย เป็นการเสกคาถาไป) ความจริงไม่ใช่ นี่พระพูด ไม่ใช่หมอไสยศาสตร์ หมอเสน่ห์เล่ห์ลมพูด พระพูดถือบาลีเป็นพื่นฐานเป็นหลัก คาถาในที่นี้ถือว่า วาจาเป็นเครื่องกล่าว คือ คำพูด
อาตมาจำถ้อยคำของท่านสุนทรภู่ไว้ได้ตอนหนึ่ง ท่านกล่าวว่า

"คนเราจะชั่วหรือดีอยู่ที่ปาก จะได้ยากหิวโหยเพราะชิวหา"

หมายความว่า จะชั่วหรือดีอยู่ที่ปากพูด เสียงที่พูดออกไป จะได้ยากหิวโหยเพราะชิวหา คือลิ้นเป็นเครื่องแต่งเสียง (วันนี้ร่างกายไม่ดีมาก แต่ขอทำงานตามหน้าที่ เพราะปล่อยร่างกายดีก็ไม่ได้พูด ถ้าไม่ได้พูดงานก็ไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจ ก็ขอพูดทั้งๆ ที่เสียงก็ไม่ดีร่างกายก็ไม่ดี เพลียมากเหลือเกิน)
ก็รวมความว่า คนเราจะดีจะชั่วอยู่ที่ปาก การพูด พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าต้องการมีเสน่ห์

๑. อย่าพูดปดมดเท็จ แต่คนพูดปดมดเท็จนี่ ถ้าเขาจับไม่ได้มันก็ดี การยอมรับนับถือยังมีอยู่ ถ้าจับคำพูดปดมดเท็จได้เมื่อไรเมื่อนั้นแหละความเป็นที่เคารพนับถือก็ดี ความเป็นมิตรสหายซึ่งกันและกันก็ดี ก็ต้องสลายตัวไป เพราะอะไร? เพราะเราเป็นคนทำลายประโยชน์เขา ในเมื่อเราเป็นคนพูดปด คนที่จะคบหาสมาคมด้วยก็หายาก เพราะว่าถ้าพูดกิจการงานกับเขา เขาก็หวังไม่ได้ว่าเราจะพูดตามความเป็นจริง เรียกว่าเราจะต้องเป็นคนมีทุกข์มาก ไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วย

สำหรับคำพูดปดนี่ บรรดาท่านพุทธบริษัท อาตมาลองซ้อมดูแล้ว ความจริงข้อนี้ก็เป็นทั้งศีลทั้งธรรมนะ ศีลมีแค่พูดปด กรรมบถ ๑๐ ก็เติมพูดหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ข้อนี้ก็รวมทั้งศีลและก็กรรมบถ ๑๐ ด้วย
สำหรับวาจานี่ บรรดาท่านทั้งหลาย อาตมาเคยถามว่าการรักษาศีลห้า ระวังตอนไหน ส่วนมากจริงๆ บอกว่า หนักใจที่ มุสาวาท เขาว่าเขาจำเป็นต้องโกหก เขาถือว่าจำเป็น อย่างการค้าขายนี้ บรรดาท่านพุทธบริษัท ถ้าไม่โกหกมันก็ขายไม่ค่อยจะได้ บางทีไม่จำเป็นต้องโกหกก็ต้องโกหก เดี๋ยวพ่อค้าฟังแล้วเขาจะเกลียดนี่หรือเปล่าก็ไม่ทราบ ความจริงที่ว่าหนักใจก็ได้แก่พวกพ่อค้าแม่ค้า บรรดาท่านสตรีทั้งหลายนี่หนักใจมาก ว่าศีล ๔ ข้อพอรักษาได้ บอกว่าข้อมุสาวาทนี่หนักใจ แต่ความจริงถ้าเราไม่พูดโกหกจะได้ไหม ลองไม่พูดโกหกดู ดูซิจะขายของได้หรือไม่ได้ ของดีเราก็บอกว่า "นี่ของดีจริงๆ นะ" ไม่ได้หลอกลวงกัน ไอ้ที่ดีขนาดกลางก็บอกว่า นี่ดีขนาดกลาง ไอ้ที่ดีขนาดเลวก็บอกว่านี่ดีขนาดเลว ถ้าถามว่าขนาดเลวทำไมจึงว่าดี ก็เพราะยังเป็นของดีไม่แตกสลาย ผ้าไม่ขาด ขันไม่แตก แก้วไม่แตก ก็เป็นของดี แต่ว่าอัตราของมันเป็นของเลวหยาบไปหน่อย สวยน้อยไปนิด เนื้อละเอียดน้อยไปหน่อย อย่างนี้เป็นต้น ก็เรียกว่าดีขนาดเลว เราก็บอกตามความเป็นจริง ข้อนี้หวังว่าบรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิงคงไม่หนักใจ

มาอีกตอน เรื่องราคาของของ ราคาของของนี่จำเป็นต้องโกหกกัน ถ้าไม่โกหกมันขายราคาแพงไม่ได้ แล้วก็มีปัญหาอยู่ว่า สมมุติว่าของชิ้นนี้ในท้องตลาดเขาขายราคา ๑๐ บาท แต่ว่าต้นทุนจริงๆ มันเป็นบาทหรือสองบาทเท่านั้นไม่มาก ถ้ามีคนเขามาขอซื้อ เขาขอลด ไม่ใช่ต่อ บอก ๑๐ บาท เขาขอลด ๙ บาทหรือ ๘ บาท ถ้าต่อนั้นหมายความว่าต้องเป็น ๑๑ บาทหรือ ๑๒ บาท คงไม่มีคนซื้อคนใดเขาต่อให้มันสูงขึ้น มีแต่ว่าขอลดลง ว่าขอลดลงมาอย่างนี้ ถ้าเราขายไปเราก็เสียราคาท้องตลาด ถ้าขายถูกเกินไปนี่ บรรดาท่านพุทธบริษัทในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี่อาตมาเคยพบมา ตอนนั้นยังอยู่วัดประยุรวงศาวาส จะไปเทศน์ที่นครปฐม ข้ามสะพานพระพุทธยอดฟ้ามาที่พาหุรัด เพื่อขึ้นรถยนต์ที่นั่น รถโดยสาร ไปเจอกระเป๋าถือลูกหนึ่งชอบใจ ก็เข้าไปซื้อ ตกลงกับเจ็ว่าตอนเย็นจะมาเอา เขาปิดราคาไว้ ถามเขาบอกว่า จะเอาไปแต่เอาไปไม่ได้เพราะไปเทศน์ จะให้สตางค์ก่อนเอาไหม? เถ้าแก่ก็บอกว่าไม่ต้อง เห็นหน้ากันเกือบทุกวัน เขาไว้วางใจ แต่พอกลับมาปรากฎว่าของในร้านทั้งหมด เขาเขียนราคาสูงขึ้นไปหมด ราคาเดิมก็ไม่มี สมมุติว่าราคาเดิมเป็น ๑๐ บาท ตอนเช้ามองดูแล้วมันเป็น ๑๐ บาท แต่ว่าตอนเย็นกลับมามัยกลายเป็น ๑๓ บาทไป ของบางอย่าง กระเป๋าลกนั้นประเภทเดียวกัน ถามเขาเวลานั้นค่าเงินมันสูงเขาเอา ๒๐ บาท ตอนเช้าเขียนราคา ๒๐ บาท ในฐานะที่ชอบกันก็บอกว่า "ฉันเอาลูกหนึ่งฉันไม่ขอลดล่ะ เถ้าแก่จะลำบากเพราะรู้จักกันดี"

เถ้าแก่เลยบอกว่า "ท่านไม่ขอลดผมจะลดให้ ผมเอา ๑๘ บาท" แต่ตอนเย็นพอมาถึง ปรากฎว่ากระเป๋าประเภทนั้น ราคาขึ้นไปเป็น ๒๕ บาท ก็เลยถามว่า

"เถ้าแก่ เมื่อเช้านี้มัน ๒๐ บาทน่ะ นี่แค่ตอนเย็นมัน ๒๕ บาท ฉันจะเอาสตางค์ที่ไหนมาซื้อ"

เถ้าแก่ก็เลยบอกว่า "กระเป๋าของท่านอยู่ข้างในครับ ผมไปเก็บไว้ข้างในแล้ว ราคาผมก็เขียนเท่านี้เหมือนกัน แต่ผมรับสตางค์จริงๆ แค่ ๑๘ บาท"

ก็ถามว่า "ทำไมจำเป็นต้องขึ้นราคากันตามนี้ด้วยเล่า มันไวเกินไป"

เถ้าแก่ก็บอกว่า "หลังจากท่านขึ้นรถไปแล้วไม่นานนัก ประมาณ ๑ ชั่วโมงเศษ ก็มีเจ้าหน้าที่เขามาแจ้งบอกให้ขึ้นราคาของไปเท่านั้นเท่านี้ ต้องขึ้นราคาตาม เขาว่าของขึ้นไปกี่เปร์เซ็นต์ก็แล้วกัน ให้ข้นราคาของไปอย่างละกี่เปอร์เซ็นต์ ต้องทำตามเขา"

ก็เลยถามว่า "ถ้าเราไม่ขายตามเขาล่ะ เราขายถูกเราจะขายได้ดี เขาขายแพงขายไม่ได้ดี"

เถ้าแก่บอกว่า "ไม่ได้หรอกขอรับ ถ้าไม่ขายตามเขา เราขายถูกเขาจะส่งคนมาซื้อหมด เมื่อซื้อหมดแล้วเราก็ไม่สามารถจะหาของราคาเท่านั้นมาขายได้อีก เพราะเขาขายแพงขึ้น"

มันมีความจำเป็นต้องขายตามเขา แต่ในที่สุดท่านเถ้าแก่ก็เอากระเป๋าให้มาแล้วรับเงิน ๑๘ บาทตามเดิม เขามีความซื่อสัตย์ดี แต่ว่าป้ายที่เขียนไว้นั้นเป็นราคา ๒๕ บาท เถ้าแก่แกก็สั่งไว้ว่า "ถ้าใครเขาถามท่านให้บอกว่าเขาขายราคา ๒๕ บาทนะครับ ไม่งั้นผมเสียแน่"

แต่ความจริงอาตมามาถึงวัดคนนั้นถาม คนนี้ถามก็บอกว่า "อย่าบอกราคากันเลย ราคาไม่ต้องบอกกัน ป้ายเขาเขียนเท่านี้ก็เชื่อเท่านี้ก็แล้วกัน ผมจ่ายเท่าไรเป็นเรื่องของผม ให้ถือว่าป้ายเขาเขียนไว้เท่านี้ก็แล้วกัน"

แต่นั้นมา ถึงญาติโยมพุทธบริษัทที่จะต้องบอกราคาเกิน ความจริงถ้าบอก ของราคา ๒ บาท เราขาย ๑๐ บาท เขาขอลด ๘ บาท แล้วก็บอกว่า
"ไม่ได้หรอก ฉันซื้อมา ๙.๕๐ บาท แล้วนี่ฉันได้ ๕๐ สตางค์เท่านั้นเอง ถ้าจะลดก็ลดได้เพียง ๒๕ สตางค์ อย่างนี้โกหก เป็นมุสาวาท"

ทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นมุสาวาท? ก็ต้องตอบเขาเฉยๆ ว่า "ของต้นทุนมันแพงต้องขายเท่านี้ ถ้าจะลดได้ก็ลดได้แค่ ๕๐ สตางค์ หรือ ๒๕ สตางค์ ลดเกินกว่านั้นไม่ได้เพราะต้นทุนมันแพง" ถ้าเขาถามว่า "ต้นทุนแพงราคาเท่าไร?" ก็ตอบเฉยๆ ว่า "ของมันหลายชิ้นด้วยกัน ตอบยาก มันต้องเปิดตำรา" เท่านี้ก็หมดเรื่องหมดราว ไม่เป็นมุสาวาท

ก็รวมความว่า คนที่พูดมุสาวาทเป็นคนไร้สัจจะ คนเกลียด แต่พูดตามความเป็นจริง บรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิง ไปที่ไหนใครก็ชอบ คนทุกคนต้องการรับฟังวาจาที่ตรงตามความเป็นจริง แต่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทชายหญิงก็ต้องระวังเหมือนกัน

การพูดตามความเป็นจริงนั้นต้องเลือกเวลา อย่าพูดจนกระทั่งเขามีความเสียหายต่อหน้าประชาชนเกินไป ต้องใช้ปัญญาด้วย ความจริงข้อนี้เราควรจะพูดที่ไหน แล้วเวลาพูดนั้นเป็นเวลาควรจะพูดแล้วหรือยัง? ถ้าเป็นเครื่องสะเทือนใจของบุคคลผู้รับฟัง เวลาที่เขาอารมณ์ไม่ดีอย่าเพิ่งพูดความจริง รอเวลาอารมณ์ดีจิตใจเขาสบาย พูดอ้อมหน้าอ้อมหลังไปก่อน เห็นท่าว่าเขาจะยอมรับแล้วก็ไม่โกรธจึงควรพูด ถ้าพูดไปแล้วผู้รับฟังโกรธ บรรดาท่านพุทธบริษัท นั่นหมายถึงความตายจะเข้ามาถงผู้พูด ตามที่เขาพูดกันว่า "วาจาจริงเป็นวาจาไม่ตาย แต่คนพูดตามความเป็นจริงอาจจะตายได้" นี่ต้องระวังให้มาก ก็ถือว่าถ้าเราพูดตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง และบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทชายหญิง เลือกเวลาเหมาะเวลาสม ใช้ปัญญาหน่อย อย่างนี้ถือว่า วาจาเป็นทิพย์ ท่านจะมีความสุขมาก ในฐานะที่คนทั้งหลายมีความไว้วางใจในท่าน

สำหรับกรรมบถ ๑๐ และศีลข้อนี้อธิบายกันยาว เพราะนี่มันยาวไปหน่อยนะ
ต่อไปข้อหนึ่ง คือ "วาจาหยาบ" วาจาหยาบ เป็นเครื่องสะเทือนใจบรรดาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ถ้าไม่จำเป็นอย่าพูดเลย แต่ความจริงบางโอกาสก็จำเป็นต้องพูด จำเป็นต้องใช้ แต่ควรใช้เฉพาะบุคคลที่มีความจำเป็นของเรา อย่างคนที่อยู่ในปกครอง จะเป็นลูกหรือจะเป็นใครก็ตามเถอะ เพราะคนเรามีนิสัย ๒ อย่าง คนที่มีนิสัยละเอียด นี่เป็นคนดีมาก คนประเภทนี้ชอบปลอบ และค่อยพูดค่อยจามีเหตุผล รับฟังแล้วปฏิบัติตาม คนประเภทนี้พูดจาหยาบตึงตังไม่ได้ เสียหายกันเลย ทั้งนี้เพราะอะไร? เพราะเธอมาจากสวรรค์ ถ้าบางคนเป็นคนนิสัยหยาบ เธอมาจากอบายภูมิ ถ้าพูดอ่อนโยน อ่อนหวาน เสร็จแก ขี่คอแน่ คนประเภทนี้ไม่ต้องการวาจาดี ต้องใช้วาจาหยาบ ตึงตังโครมคราม นี่เฉพาะคนในปกครองของเรา มีความจำเป็นต้องใช้ให้เหมาะกับนิสัย แต่สำหรับกับเพื่อนบ้าน บรรดาญาติโยมทั้งหลาย อาตมาคิดว่าใช้วาจาอ่อนโยนดีกว่า วาจาอ่อนโยน และอ่อนหวานนี้เป็นประโยชน์มาก ทั้งนี้เพราะอะไร? เพราะว่าจะพูดที่ไหนใครก็ชอบ จะพูดที่ไหนใครก็รัก

แต่ว่าสำหรับเพื่อนที่คบหาสมาคมกันสนิทก็ไม่แน่นัก บางทีพูดเพราะๆ เข้าแกด่าเอาเลย หาว่าดัดจริต ฉะนั้น คำว่า "วาจาหยาบ" นี่ต้องดูเฉพาะบุคคล บางคนถ้าเป็นเพื่อน คบหาสมาคมมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก อาตมาพบท่านๆ หนึ่ง สมัยที่ยังไม่แก่นัก อาตมาก็ยังไม่แก่เกินไปนะเวลานั้น เวลานี้มันหาหนุ่มไม่ได้อยู่แล้ว มีแรงมาพูดได้ก็บุญตัว เวลานั้นยังไม่แก่เกินไป ไปพบคนๆ หนึ่งเคยเรียนหนังสือชั้นประถมมาด้วยกัน เธอเป็นอธิบดีกรมๆ หนึ่งๆ พอไปพูดจาหวานๆ เข้า แกชักกระชากเสียงว่า "ทำไมต้องพูดอย่างนี้ เมื่อสมัยเป็นเด็กอย่าลืมนะว่าเรียนหนังสือโต๊ะเดียวกัน ความเป็นใหญ่เป็นโต สำหรับเพื่อนรักไม่มีสำหรับเรากับท่าน" เขาว่าอย่างนั้น ว่าเพื่อนกันไม่มีอะไรใหญ่กว่ากัน ห้ามยกย่องสรรเสริญกันแบบนั้น นี่แบบนี้เขาก็มีนะ

แล้วก็มีคนอีกคนหนึ่งเพื่อนกัน เขาเป็นฆราวาส เขาก็ไปพบเพื่อนของเขาเหมือนกัน คนนี้ออกมาจากโรงเรียนแล้วก็ไม่มีงานราชการทำ เธอไม่อยากจะทำ อยากจะทำงานส่วนตัว ก็เดินไปเดินมาแบบพ่อค้าหาบเร่ แต่ความจริงไม่เสียหาย ติดต่อของที่โน่นเอามาขายที่นี่ ติดต่อที่นี่ไปขายที่โน่น รู้สึกว่ารายได้ดี รายได้ของเธอดีมาก บางวันสมัยนั้นค่าของเงินยังแพงอยู่ ก๋วยเตี๋ยวชามละ ๕ สตางค์ บางวันเธอได้กำไรเป็นร้อยๆ นับเป็นร้อยๆ บางวันถึงพัน อย่างไม่ได้เลยก็ ๒-๓ ร้อยบาท นี่แค่เฉพาะกำไร รวยมาก ดีกว่ารับราชการ เธอไปพบเพื่อนคนหนึ่งเป็นอธิบดีเหมือนกัน (คำว่า "เหมือนกัน" ก็เหมือนกับเพื่อนอาตมาอีกคนหนึ่ง) มาถึงก็ยกมือไหว้ "ท่านครับ" ครับผมเข้าให้ อธิบดีหันมาด่าเลย บอก "นี่..มึงอย่ามาพูดกับกูแบบนี้ กูไม่ใช่นายมึง กูเป็นเพื่อนของมึง ทีหลังห้ามพูดนะ" นายนั่นก็บอกว่า "ท่านเป็นอธิบดี" แกก็เลยกระชากเสียงมาใหม่บอก "กูเป็นอธิบดีสำหรับคนอื่น ไม่ใช่อธิบดีของมึง มึงเป็นเพื่อนกู ไปกินเหล้าด้วยกัน" ชวนไปกินเหล้ากันเลย

รวมความว่า วาจาหยาบต้องดูเฉพาะบุคคลที่ควรไม่ควร รวมความว่า แหม..ถ้าใช้หวานๆ เกินไป สำหรับเพื่อนก็ไม่ดีเหมือนกัน ถ้ากร้าวเกินไปสำหรับเพื่อนบางคนก็ไม่ดีเหมือนกัน ต้องเลือกวาจาใช้ รวมความว่าใช้วาจานิ่มนวลไม่หยาบคายมีประโยชน์กว่า เป็นที่รักของบุคคลทั่วไป นี่ว่าสำหรับคนทั่วไปนะเป็น "คาถามหาเสน่ห์" เหมือนกัน

เวลามันเหลือน้อย ย้ำไปมาก ซอยไปมาก มันจะยุ่งแล้วหลวงตา มันจะจบไม่ทัน เสียงก็แห้งลงมาทุกที แรงมันหมด มันยังไม่ตายก็พูดไปก่อน พูดให้มันขาดใจตายไปเลย

ก็รวมความว่า ต่อไป "วาจาส่อเสียด" เรื่องการยุแยงตะแคงแสะ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย อย่าให้มีเด็ขาด อันนี้ไม่มีประโยชน์สำหรับเราเลยท่าน เรายุให้เขาแตกแยกกันก็อย่าลืม หอกนั้นมันจะสนองเรา อย่าลืมว่าคนทุกคนนะเขามีปัญญา ทีแรกถ้าเขายังไม่พบหน้าซึ่งกันและกัน เขาอาจจะเชื่อเรา และคนที่มีปัญญาเบาคือจิตทรามไร้ปัญญาก็แล้วกัน เมื่อรับฟังแล้วก็เชื่อเลยประเภทนี้ก็มี แบบนี้สร้างความแตกร้าวให้เกิดขึ้นมาเยอะ คนบางคนเขาใช้ปัญญาก็มีเหมือนกัน ถ้าบังเอิญเขาพบกันเข้า ไต่สวนกันเข้าเมื่อไร วาจาที่เรายุแยงตะแคงแสะไว้มันไม่ตรงตามความเป็นจริง ตอนนี้แหละ ญาติโยมพุทธบริษัทชายหญิง เรื่องร้ายก็ตกกับเรา เขาเกลียดน้ำหน้า ดีไม่ดีแทนวาจาจะต่อว่า กลายเป็นอาวุธไปก็ได้ เขาอาจจะจ้างคนมาฆ่าให้ตาย หรือเขาจะฆ่าเองก็ได้ ข้อนี้อย่าทำ

แล้วสำหรับอีกวาจาหนึ่ง คือ "วาจาเพ้อเจ้อเหลวไหล" คือวาจาไร้ประโยชน์ นี่บรรดาท่านพุทธบริษัท อย่าให้มีเป็นอันขาด พูดไปมันก็เหนื่อยเปล่า ถ้าคนเลวเขารับฟังก็ฟังได้ แต่ถ้าเป็นการเล่านิทานไม่เป็นไร ไม่ไร้ประโยชน์ สร้างความรื่นเริงบันเทิงใจให้เกิดแก่ผู้รับฟัง นิทานใครๆ ก็ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องจริง แต่วาจาที่พูดกับเพื่อน ถึงแม้ว่าไม่ใช่วาจาที่เป็นงานเป็นการ แต่พูดไปไร้เหตุไร้ผลนี่ บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนอย่าพูดเลย ทั้งนี้เพราะอะไร? เพราะพูดไปเราก็เป็นคนเสีย วันหลังถ้าไปเจอะหน้ากันเข้าหรือเข้าไปพบกัน เขาไปพบกับคนอื่นใดเขาจะกล่าวว่า "ไอ้หมอนั่น อีหมอนี่มันไม่ดี พูดส่งเดชไร้ประโยชน์" ต่อไปข่าวนี้กระจายมากไปเท่าไรก็ตามที เราก็เป็นคนเสียเท่านั้น ทีหลังจะพูดอะไรกับใครเขา เขาก็ไม่อยากจะฟัง ถ้ามีความทุกข์ปรารถนาจะขอความช่วยเหลือ เขาก็ไม่อยากช่วย เพราะเขาไม่เชื่อวาจาของเรา

นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ตามที่ท่านสุนทรภู่ท่านว่าไว้ว่า "จะชั่วหรือดีอยู่ที่ปาก จะได้ยากหิวโหยเพราะชิวหา" นี่เป็นความจริง ถ้าเราเป็นคนพูดที่

๑. พูดตามความเป็นจริง
๒. ไม่พูดหยาบคาย ใช้วาจาไพเราะ
๓. ไม่ส่อเสียด ไม่ยุยงส่งเสริมเขาให้แตกร้าวกัน
๔. ใช้วาจาเฉพาะที่วาจาที่เป็นประโยชน์

ทั้ง ๔ ประการนี้ คำว่า "โทษ" ไม่มีกับเรา มีแต่คุณเท่านั้น จะไปที่ไหน จะพูดที่ไหน ใครก็อยากรับฟัง เขาถือว่า วาจาเป็นทิพย์

เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย วันนี่แรงก็จะหมดพอดี พูดไปเสียงก็กลั้วไปเสียงก็แห้งไป เวลาก็หมดก็ขออำลาแต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล จงมีแด่บรรดาท่านพุทธบริษัทศาสนิกชนทุกท่าน สวัสดี