วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2558

มโนมยิทธิ มโนมยิทธิแปลว่ามีฤิทธิ์ทางใจ โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง

มโนมยิทธิ มโนมยิทธิแปลว่ามีฤิทธิ์ทางใจ ในที่นี้ท่านหมายเอาการถอดจิตออกจากร่างแล้วท่องเที่ยวไปในภพต่าง ๆ ความจริงมโนมยิทธินี้ ท่านจัดไว้ในส่วนอภิญญา แต่เพราะท่านที่ทรงวิชชาสาม ก็สามารถจะทำได้ จึงขอนำมากล่าวไว้ในวิชชาสาม
เมื่อท่านทรงฌาน ๔ ได้ในกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ก็เป็นอันว่าท่านมีสิทธิ์ที่จะทรงมโนมยิทธิได้ เช่นเดียวกับได้ทิพยจักษุญาณแล้ว ก็มีสิทธิ์ได้ญาณอีกเจ็ดอย่างได้ตามที่กล่าวมาแล้วในข้อว่าด้วยทิพยจักษุญาณ ท่านประสงค์จะท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่าง ๆ จะเป็นภพใดก็ตาม นรก สวรรค์ พรหม นิพพาน ดินแดนในมนุษย์โลกทุกหนทุกแห่ง ดาวพระอังคาร พระจันทร์ พระศุกร์ ไม่ว่าบ้านใครเมืองใคร เมืองฝรั่ง เมืองแขก เมืองเจ็ก เมืองญวน ท่านไปได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องเสียเวลารอคอยใคร ไม่ต้องยืมจมูกคนอื่นขับเคลื่อน หรือเจ้านายเหนือหัวคนใด ที่จะคอยกำหนดเวลาออกเวลาถึงให้ ไม่ต้องเสียค่าพาหนะอะไรมากมายอะไร เพียงกินข้าวเสียให้อิ่ม เพียงอิ่มเดียว
ซื้อตั๋วด้วยธูปสามดอก เทียนหนึ่งเล่ม ดอกไม้สามดอก ถ้าหาได้ หากหาไม่ได้ท่านก็ให้ไปฟรี ไม่ต้องเสียอะไร เพราะท่านเอาเฉพาะหน้าที่หาได้ ถ้าหาไม่ได้ ท่านอนุญาต ใช้เวลาไม่ถึงนาทีก็ไปถึงจุดหมายปลายทางได้ จะเข้าบ้าน สถานทำงาน ห้องนอนใครก็ตาม ก็เข้าได้ตามประสงค์ ไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของบ้าน สำรวจความลับได้ดีมากใครทำอะไร ซุกซ่อนเอาไว้ที่ไหนมีเมียน้อยเก็บไว้ที่ไหน ก็สำรวจได้หมด ไม่มีทางปกปิด วิธีทำเพื่อไปทำอย่างนี้
ท่านให้เข้าฌาน ๔ ทำจิตใจให้โปร่งไสวดีแล้ว กำหนดจิตว่า ขอร่างกายนี้จงเป็นโพรงก็จะเห็นว่าร่างกายเป็นโพรงใหญ่ ต่อแต่นั้นก็กำหนดจิตว่า ขอร่างอีกร่างหนึ่งจงปรากฏขึ้นภายในกายนี้ กายอีกกายหนึ่งก็จะปรากฏขึ้น
ต่อไปก็ค่อยบังคับกายนั้น ให้เคลื่อนไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แม้กระทั่งตับไตไส้ปอด ลำไส้ทุกส่วน เส้นเลือดทุกส่วน ประสาททุกส่วน บังคับให้กายนั้นเดินไปตรวจให้ถ้วนทั้งร่างกาย จะเห็นว่าแม้เส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ ร่างนั้นก็เดินไปได้อย่างสบาย จะเห็นเส้นเลือดนั้นเป็นเสมือนถนนสายใหญ่ เดินได้สะดวก เห็นร่างกายนี้เป็นโพรงใหญ่ คล้ายเรือหรือถ้ำขนาดใหญ่

องค์ปฐม จากหนังสือ "หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๓" โดย พระราชพรหมยาน วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี

"วันหนึ่งสมเด็จท่านพามาที่วิมาน นิพพานที่มันกว้างลิ่ว และบ้านนี่นะนานๆจะได้ไปสักที ส่วนมากก็ไปนั่งป๋ออยู่ที่วิมานพระพุทธเจ้า ถ้าเราไปอยู่ที่นั่นแล้ว เวลาเราตายมันจะไปไหน อาตมาเป็นคนเกาะ พุทธานุสสติกรรมฐานเป็นอารมณ์ตลอดเวลา ถ้าวันไหนไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้าวันนั้นตายดีกว่า มันจะเป็นยังไงก็ตาม ยิ่งป่วยยิ่งไข้ยิ่งหนัก ป่วยนิดเดียวจิตจะไม่ยอมคลาดพระพุทธเจ้า เราถือว่าถ้าเราเกาะพระพุทธเจ้าอยู่ มันจะตายลงนรกก็ยอม ท่านคงไม่ยอมให้ลง แล้วท่านก็พาไปดูที่วิมาน ชี้ให้ดูบอกว่า "คณะของคุณมันมาก เพราะคุณใช้เวลาบำเพ็ญบารมีถึง ๑๖ อสงไขยกับแสนกัป และเป็นฝ่ายวิริยาธิกะ"
เป็นอันว่าคณะของเราที่ตามกันมาเป็นระยะ ไอ้ที่เขาหนีไปนิพพานแล้วนับไม่ถ้วน พวกนั้นขี้ขลาดสู้เราไม่ได้ ไอ้เราต้องมาตกระกำลำบาก ช่วยกันวิ่งโน่นวิ่งนี่ ไอ้ที่จะกินก็ยังไม่มี แต่ยังพยายามหาเลี้ยงคนอื่น ใช่ไหม....
วันนี้มีเวลาลองสอบดูนิดหนึ่ง ถามว่า "คณะของข้าพระพุทธเจ้ามีกี่สาย จากหลังบ้านไปนี่"
ท่านบอกว่า "มี ๓๗ สาย"
ถามว่า "สายหนึ่งมีระยะยาวเท่าไร....?"
ท่านบอกว่า "สองแสนโยชน์ของนิพพาน"
แล้วก็ไปดูเห็นหมดทั้ง ๓๗ สาย สองฝั่งของถนนวิมานเต็มหมด มันไม่มีจุดพร่อง สายหนึ่งประมาณ ๒ แสนโยชน์ แต่ละสาย ๓๗ คูณด้วย ๒ วิมานมันจะตั้งสายละสองฝั่งถนน ๓๗ ถนนยาวเหยียด ถนนกลายเป็นแก้วแพรวเป็นประกายสวยสดงดงามไปหมดบอกไม่ถูก วิมานแต่ละหลังก็แพรวพราวหาที่ติไม่ได้เลย หัวหน้าทีมตั้งบ้านใหญ่อยู่ด้านหน้า ต่อไปก็มีถนนซอยเข้าไป
ทางด้านของนิพพานนี่เขาอยู่กันเป็นกลุ่มๆ อย่างกลุ่มของพระกกุสันโธ ท่านก็อยู่กลุ่มหนึ่ง วิมานของพระพุทธเจ้าก็ตั้งข้างหน้า บริวารก็เป็นสายอยู่ข้างหลัง พระโกนาคม ท่านก็อยู่กลุ่มหนึ่ง พระพุทธกัสป ก็ตั้งอยู่จุดหนึ่ง ของสมเด็จพระสมณโคดม ท่านก็ตั้งอยู่จุดหนึ่ง
ตอนนี้ของอาตมาก็เป็นจุดที่แปลก วิมานตั้งอยู่ในเกณฑ์เรียงของพระพุทธเจ้า ใหญ่คล้ายคลึงกัน แต่สวยสู้ของท่านไม่ได้ เพราะเราไม่ใช่พระพุทธเจ้า แต่ในฐานะที่ปรารถนาพุทธภูมิมาสิ้นระยะเวลา ๑๖ อสงไขยกับแสนกัปพอดี แต่ว่าต้องเกิดไปอีก ๗ ที ทนไม่ไหวไม่เอา แค่นี้พอ รอเกิดอีก ๗ ครั้ง ก็ในกัปนี้แหละ และต้องไปรอองค์ที่ ๒๒ หลังจากพระศรีอาริย์ ต้องไปนั่งรออยู่ชั้นดุสิต ไม่ไหวเปิดดีกว่า ฉะนั้นกลุ่มของพวกเราจึงมีวิมานตั้งอยู่ในระหว่างกลุ่มของพระพุทธกัสป และกลุ่มของพระสมณโคดม
เป็นอันว่าหาจุดพร่องไม่ได้ตามสายของพวกเรา วิมานสวยไม่เต็มที่มีอยู่มากพอสมควร แต่ก็ไม่เต็มสาย ที่วิมานสวยไม่มากก็เพราะว่า จิตของบุคคลใดถ้ารักพระนิพพาน วิมานจะปรากฎที่นั่น แต่ถ้าจิตใจของท่านผู้นั้นยังไม่ถึงอรหัตผลเพียงใด วิมานจะสวยไม่เต็มที่ ไอ้จิตกับวิมานมันสวยเท่ากัน เดินไปจึงรู้ เป็นอันว่าวิมานมันนั่งคอยอยู่ เป็นอันว่าคนที่ติดตามมาไม่พลาดพระนิพพาน
สมเด็จท่านตรัสต่อไปว่า
ทุกคนที่เอาจริง ที่ตามแกมาตั้ง ๑๖ อสงไขยกับแสนกัปมันมีที่อยู่กันหมดแล้ว คำว่าถอยหลังไม่มี ประการที่สองให้เตือนไว้ว่า
ในระหว่างชีวิตที่ยังไม่ตาย
ใครจะปฏิบัติดีบ้างปฏิบัติชั่วบ้าง ขณะใดที่เราสร้างความดีเพราะจิตมันดี แต่บางครั้งจิตมันจะเศร้าหมองลงไปให้มีแต่ความวุ่นวาย นั่นต้องถือว่าเป็นเรื่องของกรรมที่เป็นอกุศลของชาติก่อนเข้ามาบันดาล แต่เรื่องนี้เราจะแพ้มันในระยะต้น เวลาตายน่ะไม่มีหรอก มันจะทำร้ายได้ชั่วคราวเท่านั้น
เราจะให้มันในขณะที่มีชีวิตทรงอยู่เท่านั้น ถ้าใกล้ตายจริงๆ ไม่สามารถจะสังหารจิตเราได้ เมื่อใกล้จะถึงความตาย พอจิตเข้าถึงจุดนั้น ไอ้กิเลสไม่สามารถเข้ามายุ่งได้เลย เพราะว่ากรรมที่เป็นกุศลใหญ่ที่บำเพ็ญมาแล้วจะเข้าไปกีดกันหมด กรรมที่เป็นอกุศลเข้าไม่ถึง อาตมารับรองผลว่าทุกคนไม่ไร้สติ และไม่ไร้ความดีที่ปฎิบัติ
เพราะอะไรเพราะไปตรวจบ้านมาแล้วสบายใจ หมดเรื่องหมดราวเสียที ตามธรรมดาเราจะตำหนิกัน บางคนเราก็เห็นว่ามานั่งกรรมฐานกัน มาศึกษากัน กลับไปก็ดีบ้างไม่ดีบ้าง เอะอะโวยวาย ก็ถือว่าเป็นการชำระหนี้ชำระสินกันไป ถือว่าช่างมันไว้ ท่านบอกว่าไปบอกเขานะ เพื่อความมั่นใจ
เป็นอันว่าทุกคนที่มีวิมานอยู่ที่นิพพานละก็ควรจะภูมิใจว่าเราเข้าถึงกิจสูงสุดในพระพุทธศาสนาแล้ว ขึ้นชื่อว่าการถอยหลังกลับไปสู่อบายภูมิย่อมไม่มี ถึงแม้ว่าในชาตินี้เราจะประมาทพลาดพลั้งในด้านอกุศลกรรมเป็นธรรมดา ก็แต่ว่าจิตเราก็ต้องหน่วงเหนี่ยวเอาไว้ ถือว่าขันธ์ ๕ ไม่มีความหมายสำหรับเรา ว่าช่างมันๆเอาไว้ อารมณ์ดีก็ช่างมัน เวลาคันก็ช่างเผือก หมดเรื่องหมดราว อย่างนี้สลับกันไปสลับกันมา คำว่า ฌาน ก็คือ อารมณ์ชิน จิตมันชินอยู่อย่างนั้น จิตมันก็ตั้งอยู่ในอารมณ์พระนิพพานโดยเฉพาะ จิตก็เข้าถึงพระโสดาบัน เรื่องสกิทาคา อนาคา อรหันต์ เป็นของไม่ยาก ยากอยู่ที่พระโสดาบันเท่านั้น
สมเด็จท่านตรัสเรื่องพระศาสนาว่า
"การขึ้นคราวนี้กว่าจะลงของพระพุทธศาสนา คนที่จะบรรลุมรรคผล คราวนี้นับโกฏิเหมือนกัน และจะไปโทรมเอา พ.ศ. ๔๕๐๐ ช่วงนี้จะขึ้นเรื่อยๆต่อไปไม่ช้าคำว่าพระนิพพานจะพูดกันติดปาก ชินเป็นของธรรมดา จะเห็นเป็นเรื่องปกติ"
ถ้าเราจะถอยหลังไปจากนี้ ๒๐ ปี จะเห็นว่าจิตใจของคนเวลานี้ต่างกันเยอะ พูดถึงด้านความดีนะ เวลานี้ฟังแล้วทุกคนอยากไปนิพพาน สังเกตที่จดหมายมาบอกอยากจะไปนิพพานทั้งนั้น
และจากนี้ไปอีกไม่ถึง ๒๐ ปี จะมีพระอริยเจ้านับแสนไม่ใช่ฉันสอนเป็นผู้เดียวหรอกนะ คือว่าเขาสอนกันโดยทั่วๆไป แต่ว่ากลุ่มเราจะมาก หมายถึงว่าอาจจะไม่มีตัวมาแต่มีหนังสือมีเทป กาลเวลามันเข้ามาถึง เวลานี้คนที่เข้าถึงมุมง่ายแล้ว กำลังใจมันตีขึ้นมา ถามว่าตอนก่อนทำไมไม่ให้สอนแบบนี้ ท่านบอกว่า คนมันหาว่าง่ายเกินไป มันเลยไม่เอาเลย จะต้องยากๆ แต่พวกของแกไม่มีใครเหลือ ท่านชี้จุดเลย ก็เลยดีใจ แล้วท่านก็บอกว่า
"ต่อไปภาระมันจะหนัก ต้องวางพื้นฐานไว้"
ก็ถามว่า "พื้นฐานจากพระองค์อื่นไม่มีหรือ"
ท่านก็บอกว่า "พระองค์อื่นเขาก็มีความสามารถ ไม่ใช่ไม่มี แต่สงสัยว่าคนที่เรียนกรรมฐาน ๔๐ กับมหาสติปัฏฐานจนครบกันนี่มีกี่องค์ หมายถึงว่าทำได้ฌาน ๔ หมด"
บอก "ไม่เคยถามชาวบ้านเขาเลย" ท่านบอก "ไม่มีหรอก ปัจจุบันนี้ ไม่มีใครเขาจบ มันเหลืออยู่แกคนเดียว ท่านปานก็ตายเสียแล้ว"
ท่านบอกว่า "ผู้ที่จะทรงกรรมฐาน ๔๐ นี่ ต้องเป็นฝ่ายพุทธภูมิถึงขั้นปรมัตถบารมี ถ้ายังไม่เต็มปรมัตถบารมีนี่ยังไม่ได้กรรมฐาน ๔๐ ครบ พระโพธิสัตว์ต้องเรียนวิชาครู"
ท่านก็ถามว่า "คุณทำไมไม่หมั่นขึ้นมา"
ก็บอกว่า "เหนื่อยเต็มที ร่างกายเพลียมากก็ต้องชำระตัว เกรงว่าจะประมาท"
ท่านถามว่า "คนอย่างแกยังมีคำว่าประมาทหรือ....?"
เลยบอกท่านว่า มี
ท่านถามว่า "ทำไมว่ามี....?"
ก็เลยบอกว่า "ยังไม่รู้ตัวว่าดี"
ท่านบอกว่า "เออ ใช้ได้"
คือว่าถ้ารู้ตัวว่าดีเมื่อไรก็เลวเมื่อนั้น รู้ตัวว่าเราวิเศษแล้วเราประเสริฐแล้ว เราสำเร็จแล้ว ทุกข์มันก็เกิด แต่ว่าอารมณ์จิตถึงระดับนี้แล้ว มันก็คิดงั้นไม่ได้แล้วนะ เรื่องตัวนี้ชำระกันอยู่ตลอดวันเป็นปกติ คำว่าชำระก็หมายความว่า พิจารณาว่าร่างกายไม่มีความหมาย โลกนี้ไม่มีความหมาย คำว่าไม่มีความหมายมันติดอารมณ์
สมเด็จท่านตรัสต่อไปว่า
"งานสาธารณประโยชน์ มันเป็น ปรมัตถบารมี อย่างสูงสุด อันนี้จะทำให้เร็วที่สุด ทำให้เร่งรัดพวกเราให้เร็วที่สุด ท่านบอกว่าให้คุณบอกลูกหลานไว้ จะได้รู้ว่าเป็นจุดที่มีกำลังแรงให้เข้าถึงได้เร็วที่สุด เป็นการบั่นทอนไอ้กฎของกรรมต่างๆ ที่มันคอยกั้นขวางเรา งานนี้มันเป็นเมตตากฎของกรรมมันก็ดันไม่อยู่"
ต่อไปเรื่อง "สมเด็จองค์ปฐม" ซึ่งทรงพระนามว่า พระพุทธสิกขี พระพุทธเจ้านี่มีชื่อซ้ำกันนะ อย่าง เรวัติ ก็มีชื่อซ้ำกัน พระพุทธสิกขีนี่องค์ปฐมจริงๆ
วันนั้นพบท่านเข้า พบจริงๆสมัยที่ พล.อ.ท.อาทร โรจนวิภาค อยู่ที่นครราชสีมา วันนั้นไปนั่งกรรมฐานกันเห็นพระพุทธเจ้าท่านเยอะ ยืนสองแถวพนมมือ เราคิดว่าพระพุทธเจ้าไหว้ใครไม่มี ใช่ไหม...ก็เลยถามหลวงพ่อปานว่า มีเรื่องอะไรกัน ท่านบอกว่า
"ประเดี๋ยวพระพุทธเจ้าองค์ปฐมจะเสด็จ"
องค์ปฐม หมายถึงองค์แรกสุด ไม่มีครูสำหรับท่านเลย ต้องบำเพ็ญบารมีอย่างหนัก ต้องเข้มแข็ง เดี๋ยวท่านเดินมากลางพระพุทธเจ้า ยืนสองข้างพนมมือตลอดสวยสว่าง จิตเราเลยสว่างเห็นอะไรชัดหมด"
จากหนังสือ "หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๓"
โดย พระราชพรหมยาน วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี

วันพุธที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แม่ของพระสารีบุตรกลับใจ จากหนังสือ ธรรมปฏิบัติ ๑๓ โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง ( ลิขสิทธิ์เป็นของ "ทีมงานเว็บวัดท่าซุง" )

แม่ของพระสารีบุตรกลับใจ

เมื่อพระสารีบุตรลาพระพุทธเจ้าแล้ว ก็พาพระสาวกทั้งหมด ลูกศิษย์ท่าน ๕๐๐ องค์ไป พอไปถึงบ้านก็ถามแม่ว่า แม่ เมื่อฉันเกิดน่ะ เกิดห้องไหน คลอดห้องไหน แม่ก็บอก เอ้อ...อุปติสสะ ท่านไม่เรียกพระสารีบุตรหรอก นี่เอ็งเกิดห้องนี้ แม่ออกเอ็งห้องนี้ แก็ถือว่าเป็นแม่ แกไม่นับถือพระพุทธศาสนานี่ แต่ว่าวันนั้นก็รู้สึกว่าดีใจ ที่ลูกเป็นอรหันต์ ๗ คนไปบ้านหมด ดีอกดีใจว่าลูกไปพร้อมหน้าพร้อมตากัน แล้วก็มีพระอรหันต์ติดตามอีก ๕๐๐ องค์ พอถึงเวลากลางคืนมันจะค่ำ พระสารีบุตรก็เข้าไปในห้องนั้น ก็บอกกับแม่ บอกคืนนี้จะนอนห้องนี้ ท่านแม่ก็จัดให้

ทีนี้น้องชายท่านชื่อ ท่านจุน ก็นั่งหน้าประตู เป็นพระยาม เขาเป็นมหาเศรษฐีที่บ้านนั้นน่ะ บ้านใหญ่โตมาก พระ ๕๐๐ องค์น่ะพักสบาย

พอยามต้นนี่ เทวดาชั้นจาตุมหาราชก็มาไหว้พระสารีบุตร เวลาลงจากฟ้าเห็นแสงสว่าง สวย ท่านเข้าไปในห้องแสงสว่างก็สว่างมาก ยิ่งกว่าตะเกียงมาก

ท่านแม่นั่งอยู่หน้าประตู ชะโงกเข้าไปดู เห็นท่านท้าวมหาราชกำลังไหว้พระสารีบุตร ก็ถามท่านจุน ห้องชายพระสารีบุตร

บอก "จุน ใครมาหาพี่เอ็งล่ะ...?"

ท่านจุนก็บอกว่า "ท่านท้าวจาตุมหาราช"

แกก็สงสัยถามว่า พี่เอ็งน่ะ โตกว่าท่านท้าวจาตุมหาราชอีกรึ ท่านมองไปน่ะ เห็นกำลังไหว้นี่ ท่านจุนก็บอก พี่โตกว่า และพระที่มาทุกองค์น่ะ โตกว่าจาตุมหาราชทั้งนั้นแหละ แกก็แปลกใจเพราะพระพวกที่ไปนี่เป็นอรหันต์หมด

พอใกล้ถึงยามที่สอง ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ก็กลับ ทีนี้ชั้นดาวดึงส์มา มีพระอินทร์นำขบวน ก็สว่างกว่า ใหญ่กว่า แล้วก็แสงสว่างก็สว่างมากกว่าจาตุมหาราช ไอ้แสงสว่างมันก็พุ่งออกมาหน้าประตู แกก็สงสัย ชะโงกเข้าไปดูอีก เห็นพระอินทร์กำลังไหว้พระสารีบุตร จึงถึงท่านจุนว่า

จุน "ใครมาหาพี่เอ็ง...?"

ท่านจุนก็บอกว่า "พระอินทร์"

แกก็เลยถามว่า ทำไมพี่เอ็งน่ะ โตกว่าพระอินทร์อีกรึ ฮึ...ชักสงสัยแล้วซิ พราหมณ์เขาถือว่าพระอิศวรนี่เก่งอยู่แล้วนะ ท่านจุนก็เลยบอกว่า โตกว่า

ทีนี้พอถึงยามสาม พรหมลงมา พราหมณ์เขาถือว่าพรหมน่ะสูงสุด ใช่ไหม พรหมลงมาแสงสว่างไสว ก็สว่างมากกว่าชั้นดาวดึงส์ แกก็ชะโงกหน้าไปดู เห็นพรหมเข้ามาไหว้ก็ถามท่านจุนว่า

"ใครมาหาพี่เอ็งล่ะ...?"

ท่านจุนบอก "พรหม"

แกก็ถามว่า เอ๊ะ...พี่เอ็งนี่โตกว่าพรหมรึ พรหมจึงมาไหว้ ท่านจุนบอก โตกว่า ท่านก็เลยบอก พระทุกองค์ในพระพุทธศาสนาที่เป็นอรหันต์แล้ว โตกว่าพรหมทั้งนั้นแหละ ที่มาทั้งหมดนี่น่ะ โตกว่าพรหม

แกก็แปลกใจ ก็พรหมณ์เขาถือว่าพรหมสูง

เทศน์จบเป็นพระโสดาบัน

พอพรหมกลับ พระสารีบุตรก็เรียกแม่เข้าไปในห้อง เทศน์โปรด ไอ้ความเลื่อมใสมันเกิดขึ้นแล้วนี่ เห็นว่าเอ๊ะ...ลูกนี่โตกว่าพรหม ก็พราหมณ์ถือว่าพรหมสูงสุด นี่ลูกสูงกว่าพรหมอีก ไอ้ศรัทธามันก็เกิด เห็นท่านจาตุมหาราชมาไหว้ พระอินทร์ก็มาไหว้ พรหมก็มาไหว้ เข้าไปก็เทศน์โปรดแม่ พอเทศน์จบ แม่ก็ได้พระโสดาบัน

เงินกตัญญูกตเวที

นี่เห็นไหม นั่นลูกเป็นอรหันต์ชั้นใหญ่ตั้ง ๗ องค์นะ แม่ยังด่าพระอยู่เลยนะ แล้วแม่เธอน่ะ จะไปเคี่ยวเข็ญนักไม่ได้นะ ใช้วิธีเอาทำบุญแบบย่อ

ก็หมายความว่าสตางค์แกมี เราก็ไปหยิบเอามา หยิบมาแต่ว่าอย่าให้เงินมันขาด เราเอาสตางค์ของเราวางไว้แทน ถือว่านั่นเงินน้ำพักน้ำแรงของแม่เราเอาไปทำบุญ แม่พลอยได้

แต่เงินที่เราใส่ไว้ให้แม่ นี่เป็นเงินกตัญญูกตเวที เราก็ได้ด้วย นี่มันได้สองชั้น แม่ได้บุญด้วย และแม่ก็ได้สตางค์จากเราไป แต่อย่าไปบอกแกนะ เดี๋ยวแกโมโห ถ้าโมโหแล้วมันบาป

แล้ววิธีช่วยน่ะมันมีเยอะแยะไป มันไม่จำเป็นต้องมานั่งเข็นกัน ไปนั่งเข็นกัน เกิดความขัดใจกัน ถ้าขัดใจกันก็ด่ากันซิคราวนี้ ลงนรกไปทั้งคู่ ฮึ...ว่าไงลุง

เราด่าหรือไม่ด่าก็ตาม เขาด่าเรา จิตเขามัวหมอง เขาจึงด่า เขาจะต้องตกนรกเพราะเรา ใช่ไหม นี่พูดถึงพ่อถึงแม่นะ ไอ้คนอื่นมันด่าเรา มันอยากลงนรกก็ปล่อยมัน ยุมันเลยก็ได้ ฉันชอบนะยุคน

คนมันลงตื้น ให้มันลงลึก ๆ จะได้ชื่นใจ ใครมันอยากเลว เลวก็ยุส่ง ไหน ๆ มันจะไปแล้วก็ช่วยมัน เดี๋ยววาสนามันน้อยมันลงตื้นเกินไป ใช่ไหม

ไม่เคี่ยวเข็ญใคร

ทีนี้ไอ้คนตกนรกนี่เคยไปดู เมื่อก่อนก็รู้สึกสลดใจสงสาร เดี๋ยวนี้ไม่สงสาร

ก็ความดีมีถมไป ทำไมจึงไม่ทำ ใช่ไหม แต่ก่อนที่เคี่ยวเข็ญ ทำบุญนั่นทำบุญนี่ เดี๋ยวนี้ไม่เคี่ยวเข็ญใคร ความดีเยอะแยะไป ก็รู้อยู่นี่ ทำไมถึงไม่ทำ

พอเห็นสัตว์นรกก็รู้สึกเฉย ๆ นอกจากสัตว์นรกนี่เราไม่มีโอกาสจะช่วยอยู่แล้วนะ สมมุติว่าเราเดินไปขอบนรกนี่น่ะ เขายกมือไหว้ก็ช่วยเขาไม่ได้ ไม่มีโอกาสจะช่วย อยู่ในขุมนรกนี่ไม่มีโอกาสช่วย ถ้าหากว่าเราจะช่วยได้ทั้งหมด ถ้าเขาช่วยกันได้ พระพุทธเจ้าก็คงเอาขึ้นมาจากขุมนรกหมด ใช่ไหม มันช่วยไม่ได้ กรรมหนักของเขา

ถ้าเราเห็นเขาตกนรก เราก็ต้องถือว่าเพราะเขาพอใจลงนรก เขาจึงลง เราเอาขึ้นมานี่ก็เท่ากับขัดใจเขานะ ไม่ดี ขัดใจก็ไม่เกิดประโยชน์ ใช่ไหม ก็คบมัน เกิดมามันรู้ดีรู้ชั่วด้วยกันทั้งนั้น ไม่ใช่ไม่รู้ ไม่ใช่หัวหลักหัวตอ

แล้วทำไมจึงไม่สร้างความดี ทำไมจึงสร้างความชั่ว ไอ้นี่เราก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องความพอใจของเขา เมื่อเขาอยากจะลงนรกตามความพอใจของเขา เราจะไปขัดใจเขาทำไม

อักขาตาโร ตถาคตา

พระพุทธเจ้าบอกว่า

"ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอก"

เราก็มีหน้าที่บอกตามที่พระพุทธเจ้าบอกเท่านั้น ใช่ไหม เมื่อเขายังอยากจะลงนรกอยู่เราก็ตามใจเขา เรื่องอะไร

ก็มีเมื่อก่อนนี้ก็เคยทดลองเขาดื้อแบบนั้น แล้วก็ชวนแล้วชวนเล่า หนัก ๆ เข้าเขาโมโห ด่าเอา ก็เลยไปช่วยให้เขาลงนรกลึกเข้าไปอีก มันก็ไม่เกิดประโยชน์ ไอ้ที่มันลงไปแล้ว เราเดินไป ก็เฉย ๆ ถ้าเห็นไฟไหม้คึ่กคั่ก ๆ หอกสับหอกแทง มีดฟัน ภูเขาเหล็กกลิ้งทับ ไฟไหม้ ก็เฉย ๆ ที่เฉพาะเพราะอะไร เพราะว่าเราไม่มีโอกาสจะช่วยเขาได้

แล้วก็เราลงไปถาม สมัยเขามีพระไหม มันก็มีใช่ไหม แล้วทำไมเขาจึงไม่สร้างความดีหลีกเลี่ยงนรกล่ะ ทำไมเขาพอใจ นั่นมันเรื่องพอใจของเขาน่ะ ไอ้คนหนึ่งจะกินเหล้า เราไปชวนกินน้ำหวาน เดี๋ยวมันเตะเอาล่ะ ก็ปล่อยมันกินเหล้า ใช่ไหม บอกว่า ไอ้โง่อย่างมึง กินเหล้าอร่อยกว่า ใช่ไหม.

จากหนังสือ ธรรมปฏิบัติ ๑๓
โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง
( ลิขสิทธิ์เป็นของ "ทีมงานเว็บวัดท่าซุง" )

วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

อย่าร่าเริงในความหลง ตั้งจิตตรงเฉพาะพระนิพพาน โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน

“จิตของลูกอย่าร่าเริงในกามารมณ์ อย่าร่าเริงในโทสะ อย่าร่าเริงในความหลง ตั้งจิตตรงเฉพาะพระนิพพาน ชีวิตเป็นของไม่แน่นอน ความเกิด ความตายเป็นของธรรมดา เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ก็เป็นของยุ่งยาก ในที่สุดมันก็ต้องตาย ถ้ากิเลสเรายังไม่หมดเพียงใด ก็ต้องกลับมาเกิดใหม่ มาใช้ชีวิตที่ไม่มีความสุข”

ธรรมใดที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พ่อไว้ พ่อถ่ายทอดให้แก่ลูก ทรัพย์สมบัติทั้งหมดนี้ขอลูกจงถือว่านั่นคือตัวแทนของพ่อ เพราะว่าชีวิตของพ่อนี่ พ่อไม่แน่ใจนักว่าจะมีอายุยืนยาวอีกสักกี่ปี ขอลูกทั้งหลายจงอย่าถือขันธ์ ๕ ของพ่อนี้เป็นสำคัญ
“ปฏิปทาใดที่เป็นที่ชอบใจ ไม่เกินวิสัยลูก ขอลูกจงทำและจงรักษาอภิญญาสมาบัติไว้ ขณะใดที่ใจของลูกยังรักษาอภิญญาสมาบัติไว้ รักษาปฏิปทาสาธารณประโยชน์ ขณะนั้นลูกจงภูมิใจว่า พ่ออยู่กับลูกตลอดเวลา ถึงแม้ว่าร่างกายกายาของพ่อจะสลายไป แต่ใจของพ่อยังอยู่กับใจของลูก ลูกจะไปไหนก็ชื่อว่าพ่อไปด้วย ช่วยลูกทุกประการ”
อย่าเมากายจนเกินไป อย่าเมาชีวิต จงอย่าคิดว่าร่างกายของใครดี ดูร่างกายของเรานี้ มันสกปรกโสมม และมีความเสื่อมโทรมไปเป็นธรรมดา ในไม่ช้ามันก็พัง อยู่คนเดียวมีความสุข สุขอย่างมีคนเดียว แต่ก็ทุกข์อย่างมีขันธ์ ๕ ฉะนั้นขอลูกทุกคนจงตั้งหน้าตั้งตาปลงจิตคิดว่า อนิจจา วตสังขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ อุปปาทวยธัมมิโน เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็แก่ไปทีละน้อยคือทรุดโทรมไป อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ เมื่อเกิดขึ้นแล้วในที่สุดก็ตาย ให้เอาใจนึกถึงภาพคนตายว่าเวลานี้คนที่เขาตายมานอนอยู่ข้างหน้าเรา สภาพมันเป็นยังไง เตสัง วูปสโม สุโข ร่างกายที่เปื่อยเน่าอย่างนี้ ถ้าเรางดไม่มีเสียได้แล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วตรัสว่า จะมีกายแก้ว คือ พระนิพพาน

พระราชพรหมยาน
คัดจากหนังสือเรื่องจริงอิงนิทาน (พิเศษ)

วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ขอเชิญร่วมทอดผ้าป่าสามัคคี “ตั้งเสาไฟฟ้า ไปใช้ในศูนย์ปฏิบัติธรรม” อานิสงส์ : ได้ชำระหนี้สงฆ์ แสงสว่างแห่งชีวิต ดวงตาเห็นธรรม และร่วมพิธีเททองหล่อ“หลวงพ่อโสธร ขนาด ๓๙ นิ้ว” พิธี “ยกช่อฟ้า ๕ ช่อ” อุโบสถแก้วกลางน้ำ ร่วมเวียนเทียนเนื่องในวันอาสาฬหบูชา ถวายเป็นพุทธบูชา ณ วัดวีระโชติธรรมาราม คลองหลวงแพ่ง เมือง ฉะเชิงเทรา วันอาสาฬหบูชา ที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๘

ขอเชิญร่วมทอดผ้าป่าสามัคคี “ตั้งเสาไฟฟ้า ไปใช้ในศูนย์ปฏิบัติธรรม”
อานิสงส์ : ได้ชำระหนี้สงฆ์ แสงสว่างแห่งชีวิต ดวงตาเห็นธรรม
และร่วมพิธีเททองหล่อ“หลวงพ่อโสธร ขนาด ๓๙ นิ้ว”
พิธี “ยกช่อฟ้า ๕ ช่อ” อุโบสถแก้วกลางน้ำ 
ร่วมเวียนเทียนเนื่องในวันอาสาฬหบูชา ถวายเป็นพุทธบูชา
ณ วัดวีระโชติธรรมาราม คลองหลวงแพ่ง เมือง ฉะเชิงเทรา
วันอาสาฬหบูชา ที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๘
***********************
เนื่องด้วยทางวัดวีระโชติฯ ได้รับบริจาคเนื้อที่ จำนวน ๓๕ ไร่ ซึ่งเป็นท้องนา ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ จึงจำเป็นต้องตั้งเสาไฟฟ้า เพื่อไปใช้ภายในศูนย์ปฏิบัติธรรมดังกล่าว งบที่ต้องใช้ประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ บาท 
จึงขอความเมตตาจากท่านทั้งหลาย ร่วมเป็นเจ้าภาพทอดผ้าป่าในครั้งนี้โดยพร้อมเพียงกัน ตามกำลังศรัทธาของทุกท่าน
เพื่อทำศูนย์ปฏิบัติธรรมแห่งนี้ ไว้เป็นสมบัติของพระพุทธศาสนาอันยาวนานให้ลูกหลานมาสร้างความดีกันสืบไป
คณะผู้จัดทำ ขอขอบคุณทุกท่านในครั้งนี้ ขอความสำเร็จจงมีแก่ทุกคน ทุกท่าน ตลอดกาล เทอญ.
กำหนดการ เวลา ๑๐.๐๐ น. ถวายภัตตาหารเพล 
เวลา ๑๒.๐๙ น. พิธีถวายผ้าป่าสามัคคี
เวลา ๑๓.๑๙ น. พิธียกช่อฟ้าอุโบสถ ๕ ช่อ 
เวลา ๑๙.๓๙ น. พิธีเททองหล่อพระพุทธโสธร ขนาด ๓๙ นิ้ว 
เวลา ๒๐.๐๐ น. พิธีเวียนเทียนเนื่องในวันอาสาฬหบูชา ถวายเป็นพุทธบูชา
ประธานฝ่ายสงฆ์ : พระครูปลัดเฉลิมพล สุเมโธ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
: พระครูสังฆรักษ์บุญนำ ทานรโต ผู้ช่วยเจ้าอาวาส

ประธานฝ่ายฆราวาส : คณะศิษย์วัดวีระโชติธรรมาราม

วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ศีล ๘ กับศีลอุโบสถ ต่างกันไหม โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง


ศีล ๘ กับศีลอุโบสถ ต่างกันไหม
โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง

ที่มา 
หนังสือหลวงพ่อตอบปัญหาธรรม สนทนาธรรมกับ หลวงพ่อพระมหาวีระ ถาวโร (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) ฉบับพิเศษ เล่ม ๓

ผู้ถาม - หลวงพ่อค่ะ ศีล ๘ กับศีลอุโบสถ ต่างกันไหมค่ะ
หลวงพ่อ - ต่างกันอยู่นิดหนึ่ง อุโบสถใช้อิมัญจรัตติง อิมัญจทิวสัง คือ กำหนดเวลาว่าวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง หรือว่า ๗ วัน กับ ๗ คืน หรือว่า ๓ เดือน ๕ เดือน แต่ศีล ๘ มีสิกขาบทเท่ากัน แต่ไม่กำหนดเวลา ถ้าเอาความเข้มข้นกันจริงๆ พวกรักษาศีล ๘ มีกำลังใจเข้มข้นมากกว่าพวกรักษาอุโบสถ เขาเก่งสิกขาบทเท่ากัน แต่กำหนดเวลาไม่เท่ากัน
คำว่า อุโบสถ เขาแปลว่า อยู่จำ ตั้งใจจะรักษาแค่ ๑ วัน กับ ๑ คืน หรือ ๗ วันกับ ๗ คืน หรือ ๑ เดือน ก็ว่าไป ทีนี้ถ้าหากว่าเราไม่กำหนดเวลา เราก็สมาทานแค่ศีล ๘ เมื่อไรก็ได้ สบาย

ผู้ถาม - รักษาช่วงไหนก็ได้ ใช่ไหมคะ??
หลวงพ่อ - ไม่ได้ๆ คือว่าตั้งแต่หลับถึงตื่นเขาห้ามรักษา ถ้าเราตั้งใจสมาทานดีแล้ว ในช่วงหลับเขาถือว่ามีศีล ในช่วงหลับมันไม่มีกังวลอยู่แล้ว ใช่ไหม
เมื่อตอนเด็กๆ ฉันก็รักษาศีล ๕ เหมือนกัน ก่อนจะหลับ ฉันก็สมาทานศีล ๕ แล้วบริสุทธิ์ตลอด มันจะไปขาดยังไง เพราะในช่วงหลับ ไม่มีการทำอะไรอยู่แล้ว ใช่ไหม เพราะฉันโกงมาแล้วเลยห้ามคนอื่นทำตามฉัน

ผู้ถาม - (หัวเราะ) แล้วอานิสงส์ ต่างกันไหมคะ
หลวงพ่อ - ต่างกันหนู เพราะเรียกไม่เหมือนกัน ตัวท้ายนะ
อานิสงส์ท่านว่าอย่างนี้
สีเลนะ สุคติง ยันติ สีเลนะ โภคสัมปทา
สีเลนะ นิพพุติงยันติ ตัสมา สีลัง วิโสธะเย
ท่านว่าอย่างนี้เหมือนกันหมด มันต่างกันตรงไหนละ

วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การรับเงินของพระ เทศนาหลวงพ่อฤาษีลิงดำ แก่ภิกษุสามเณร เรื่องวินัยสงฆ์เกี่ยวกับการรับเงินของพระ เมื่อ 17 ก.ย. 2518

การรับเงินของพระ
เทศนาหลวงพ่อฤาษีลิงดำ แก่ภิกษุสามเณร
เรื่องวินัยสงฆ์เกี่ยวกับการรับเงินของพระ
เมื่อ 17 ก.ย. 2518
ทีนี้มาถึงสิกขาบทข้อที่ ๘. พระวินัยกล่าวว่า “อนึ่งภิกษุใดรับก็ดีให้รับก็ดีซึ่งทองเงินหรือยินดีทองเงินอันเขาเก็บไว้ให้เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”
“สำหรับสิกขาบทนี้ขอท่านทั้งหลายจงใคร่ครวญให้ดี ทั้งนี้ในที่บางแห่ง หรือในเขตบางเขต เขาไม่มีโยมรับเงินรับทองกัน และชาวบ้านเขาก็เห็นกันว่าพระที่ไม่รับเงินรับทอง เป็นพระที่เคร่งครัดมัธยัสถ์ ถึงกับมีการรังเกียจพระที่รับเงินรับทอง แต่ตามความเข้าใจของผมหรือว่าพระมหาเถรานุเถระฝ่ายวิปัสสนาธุระ มีความเข้าใจกันดี อันนี้เพราะอะไรเพราะว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า รับเองก็ดี ใช้ให้คนอื่นรับก็ดี หรือมีความรู้สึกอยู่ว่าเขาเก็บไว้เพื่อเรา และเราก็ถือว่าทรัพย์สินส่วนนั้นมันเป็นของเรา ท่านจะพิจารณาเห็นว่าต้องอาบัติเสมอกันคือ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ทีนี้พระบางท่านเวลาเขามาถวายไม่รับ ไม่รับเอง แต่ว่าให้ลูกศิษย์รับ ให้มอบไว้กับลูกศิษย์ แต่ว่าใส่ย่ามเถอะไม่ยอมรับ มือไม่รับ อันนี้ท่านทั้งหลายที่ฟังแล้วเห็นว่ามันพ้นไหม เห็นว่ามันพ้นหรือไม่พ้น มันพ้นตรงไหนกัน รับเองก็ดี ให้คนอื่นรับก็ดี หรือว่าคนอื่นที่เขาเก็บไว้ให้เราที่เรียกว่า ไวยาวัจกร
แต่เรามีความรู้สึกว่าทรัพย์สินทั้งหลายเหล่านั้นมันเป็นทรัพย์ของเราก็อาบัติ นิสสัคคิยปาจิตตีย์
นี่ที่ผมย้ำมากๆ ก็เพราะความเข้าใจผิดของปวงชนและพระมีมาก ถ้าตนเองไม่รับเงิน แล้วต่อหน้าคนไม่รับ ลับหลังคนรับ หยิบ หรือต่อหน้าคนไม่รับ ลับหลังคนไม่รับ คนอื่นเก็บเอาไว้ให้ ก็รู้ว่านั่นเงินของเรา มีจำนวนเท่านั้นเท่านี้ จิตใจยังผูกพันอยู่ ไม่ได้พ้นโทษไปเลย ถ้ามันยังไม่พ้นโทษอยู่ นี่ตามความรู้สึกของผม หรือว่าครูบาอาจารย์หลายท่านด้วยกัน ในสมัยโบราณ ผมเรียกว่าโบราณเพราะว่าเวลากาลผ่านมาประมาณ 40 ปีเศษ ในสมัยที่ผมบวชใหม่ๆ ที่พูดนี้เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2518 ผมบวชผ่านเวลากาลผ่านมาได้ 40 ปีเศษ ถอยหลังไป 40 ปี ผมเรียกว่าโบราณ คือมันเก่าแล้ว คนสมัยนั้นหัวยังเก่าอยู่ ท่านบอกว่า การที่เราไม่รับต่อหน้าคน แต่ว่าให้คนอื่นรับ หรือว่าคนอื่นรับเงินแล้วเขาเก็บไว้เพื่อตนยินดีอยู่ แต่เราไม่ยอมรับ จิตคิดว่าเรามีความดีที่ไม่รับเงิน ท่านบอกว่าคนที่มี อารมณ์อย่างนั้นมีกิเลสหนาแน่นที่สุด เพราะว่าเป็นการหลอกลวงชาวบ้านเขา ทำตนเป็นคนดี แต่ความจริงไม่ได้ดีตามนั้นแต่จิตใจกับเลวทราม
กับท่านผู้รับเองให้ชาวบ้านเขารู้ ไหนๆ เราจะรับแล้ว เราก็ยอมรับเสียต่อหน้าชาวบ้าน เพื่อว่าชาวบ้านเขาจะได้ทราบว่าพระองค์นี้รับเงิน ในเมื่อเขารู้ว่าแล้วเรารับเงิน เขาจะนิยมเราหรือไม่นิยม เป็นเรื่องของเขา เราไม่เกี่ยว เราเปิดเผยให้เขารับรู้เลยดีกว่า ว่าเรารับเงินรับทอง ถ้าหากว่าเราไม่รับต่อหน้าชาวบ้านแต่ว่าภายหลังเราเก็บเอง หรือบุคคลอื่นเก็บ แล้วก็ทราบว่าเงินของเรา เรามีอยู่ เงินและทองของเรามีอยู่ เราถือสิทธิ์อยู่ ยินดีอยู่ ถ้าชาวบ้านเขาทราบทีหลัง เราจะเสียสองชั้น คือเสียในเรื่องหลอกลวงชาวบ้าน และก็ต้องโทษที่พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติไว้
ดังนั้นในการรับเงินและทองเอง แต่ทว่าจงอย่ายินดีในเงินและทองนั้นว่าเป็นทรัพย์สินของเราโดยเฉพาะ พึงทำใจของเราให้มีความรู้สึกอยู่เสมอว่าเวลานี้เราเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เป็นลูกของพระพุทธเจ้า เงินและทองที่เขาจะถวายเรา เขาก็ถวายเราในฐานะที่เป็นพระ ดังนั้นเวลาที่เขาจะถวายเขาก็บอกว่า ใช้ตามสมควรแก่สมณบริโภค คือเราต้องคิดไว้เสมอว่าเงินทองทั้งหลายเหล่านี้เราจะใช้บำรุงตัวเราเองตามความจำเป็น ถ้าเหลือนอกจากนั้นเราจะเอาเงินจำนวนนี้
ไปสร้างบุญสร้างกุศล ให้เป็นประโยชน์แก่บรรดาสาธารณชน เป็นส่วนสาธารณะ นี่เรียกว่า แม้จะก่อสร้างถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนา หรือสร้างสิ่งตามความจำเป็นเพื่อความสะดวกของบรรดานักบวชทั้งหลายหรือว่านักบุญทั้งหลาย อย่างนี้จิตใจของเราไม่ยึดถือว่าเงินนี้มันเป็นของเราโดยเฉพาะ ถือว่าเป็นเงินของพระพุทธศาสนา เป็นเงินของพระ เขาถวายพระ ถ้าเราไม่บวชไม่มีใครเขาให้ จะไปเอาเงินจากเขา บางทีต้องมีโฉนดที่ดินไปให้เขารับรอง ดีไม่ดีเขาก็ไม่ยอมให้ นี่ทำใจของเราให้สบายแบบนี้ จงอย่าติดในลาภ อย่าติดในเงินและทอง อย่างนี้ผมถือว่า เราทนหน้าด้านแต่ว่าใจของเราไม่ด้าน ยอมรับต่อหน้าชาวบ้าน เพื่อเป็นการประกาศความจริงว่าเรามีความจำเป็นจะต้องใช้
สิกขาบทนี้แหล่ะท่านบรรดาสหธรรมิกทั้งหลาย ตามความเข้าใจของผม ผมคิดว่าท่านสมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบว่าต่อไปในภายภาคหน้าคนที่จะพะเน้าพะนอพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา เหมือนในสมัยที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ไม่มี องค์สมเด็จพระชินสีห์จึงได้ทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสในสมัยก่อนหน้าพระปรินิพพาน ว่า
“อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เมื่อตถาคตปรินิพพานไปแล้ว สิกขาบทบางสิกขาบทซึ่งไม่ใหญ่โตนัก ถ้าหากว่าไม่เหมาะกับกาลสมัย ภิกษุสงฆ์ทั้งหลายจะเห็นว่าไม่สมควร จะเพิกถอนเสียก็ได้”
นี่เป็นพระพุทธประสงค์ขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา แต่ด้วยว่าในเมื่อเป็นคำดำรัสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครที่ไหนจะยอมเพิกถอน ก็มีความเคารพในพระองค์ เราสู้เอาหน้าด้านแต่ใจสะอาดดีกว่า ดีกว่าต่อหน้าคนไม่รับ แต่ลับหลังรู้ค่าของเงิน รู้ค่าของทอง รู้จักใช้เงินและทองให้เป็นประโยชน์ส่วนตนและเป็นประโยชน์ส่วนรวม อย่างนี้เขาเรียกว่าหน้าดี แต่ใจด้าน ขอให้ท่านทั้งหลายเลือกเอาอย่างหนึ่ง จะยอมหน้าด้านแต่ว่าใจดี หรือว่าจะเอาหน้าดีแต่ใจด้านกัน ท่านทั้งหลายจงอย่าลืมว่า ถ้าเราตายไปแล้ว ร่างกายหรือหน้าก็ดี ตัวก็ดี มันไม่ได้ไปกับเราด้วย ส่วนที่จะไปจริงๆ มันก็คือใจ แต่จะไปเสวยความสุขหรือความทุกข์มันก็อยู่ที่ใจ หน้าด้านแต่ใจดี แสดงว่าใจสะอาด หน้าดีแต่ใจด้านแสดงว่าหน้าสะอาดแต่ว่าใจเสีย ใจสกปรก ทีนี้ถ้าใจของเราสกปรกเวลาตายเราก็เอาความสกปรกไป ส่วนที่สกปรกชาวสวรรค์เขาไม่ชอบ ชาวสวรรค์เขาต้องการความสะอาด เราอยู่ไม่ได้ คนสกปรกต้องไปอยู่ในอบายภูมิทั้ง 4 คือ ในนรก หรือไปเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน
นี่ขอบรรดาเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งหลายพากันวินิจฉัยตามนี้ แล้วก็เลือกปฏิบัติเอา แต่สำหรับผมน่ะขอยอมรับว่าผมหน้าด้านแน่ ในเรื่องการรับเงินรับทอง แต่ใจของผมผมไม่ยอมด้านในเรื่องนี้ เพราะว่าผมไม่ยอมเอาเงินที่เขาเอามาถวายเป็นประโยชน์ส่วนตน ซื้อไร่ซื้อนาซื้อบ้านให้เขาเช่า อะไรพวกนี้ผมไม่มี ออกเงินให้กู้ผมไม่มี ได้มาเท่าไรเหลือกินเหลือใช้ สร้างถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนา และให้ความสะดวกกับบรรดานักบุญทั้งหลาย อย่างนี้ผมยอมหน้าเสียเพื่อรักษากำลังใจของตัวเอง ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่ยกยอตัวเอง พูดตามความเป็นจริง ครูบาอาจารย์ท่านก็ปฏิบัติมาแบบนี้ เพราะสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันหลีกเลี่ยงกันไม่ได้ แล้วทำไมเราจะมาทำหน้าดีใจเสียใจเพื่อประโยชน์อะไร พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฎฐา มโนมยา “ธรรมทั้งหลาย มีใจถึงก่อนมีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ”
ถ้าใจของเราเลวแต่ว่าหน้าดีมันจะมีประโยชน์อะไร สู้ทำหน้าของเราให้เป็นหน้าด้านแต่ใจสะอาด ดีกว่าหน้าสะอาดใจด้าน เลือกกันเอานะ ผมไม่ได้บังคับ ยังไงๆ ก็บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาเราเป็นปูชนียบุคคล อย่าหลอกลวงชาวบ้านเขาเลยบรรดาเพื่อนทั้งหลาย
ต่อไปเป็นสิกขาบทข้อที่ 9 ...............”