วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558

คาถามหาเสน่ห์  โดย พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) จาก หนังสือ แนะวิธีหนีนรกแบบง่ายๆ

คาถามหาเสน่ห์ 
โดย พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)
จาก หนังสือ แนะวิธีหนีนรกแบบง่ายๆ

ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย สำหรับตอนนี้เป็นตอนที่ ๑๖ สำหรับตอนนี้เป็นตอนที่ ๑๖ สำหรับตอนที่ ๑๖ นี้ ก่อนจะพูดเรื่องอื่นก็ขอเตือนกันไว้ก่อน ว่ารายการนี้เป็นรายการ "หนีนรก" ตอนที่ ๑๕ หนีสิมพลีนรก แต่ตอนที่ ๑๖ นี้ หนีทุกขุม ทั้งนี้เพราะอะไร? เพราะว่าเป็นเรื่องของวาจาที่ต้องพูด แต่ก่อนจะพูดถึงวาจาก็บอกลีลาการหนีนรกกันก่อน การหนีนรกขอถือตามแบบฉบับขององค์สมเด็จพระชินวร คือ พระพุทธเจ้า ที่ตรัสว่า

"ถ้าบุคคลใดละสังโยชน์ ๓ ประการได้ หรือว่าตัดสังโยชน์ ๓ ประการได้ ท่านผู้นั้นบาปเก่าทั้งหมดตามไม่ทัน ไม่สามารถลงโทษได้ แล้วก็ท่านผู้นั้นจะไม่มีการตกนรก ไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน ต่อไปอีกทุกชาติที่เกิด จะเกิดเมื่อไร จะตายเมื่อไรก็ตาม จะวนเวียนแต่เฉพาะเป็นมนุษย์ เทวดากับพรหม และต่อไปถ้ามีกำลังเต็มก็ไปนิพพาน"

การตัดสังโยชน์ ๓ ประการ ก็ขอบอกกันแบบง่ายๆ ย่อๆ พูดมากก็ฟังยาก วิธีตัดง่ายๆ ก็คือ

๑. ให้มีความรู้สึกเสมอว่าชีวิตนี้มันต้องตาย เราไม่ประมาทในชีวิต คิดว่าอาจจะตายวันนี้ไว้เสมอ และก็เวลาเดียวกันนั้นก็ตั้งอารมณ์แห่งความดีทางไปสวรรค์ คือเกาะสิ่งที่มีกำลังใหญ่ คือพระพุทธเจ้า ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้าด้วยความจริงใจ ยอมรับนับถือพระธรรมและพระอริยสงฆ์ด้วยความจริงใจ หลังจากนั้นก็ทรงศีลห้าให้บริสุทธิ์ ถ้ามีกำลังใจละเอียดดีขึ้น ค่อยทรงกรรมบถ ๑๐ ให้บริสุทธิ์ อย่างนี้เวลาท่านเป็นมนุษย์ท่านก็มีความสุข ตายจากความเป็นมนุษย์ก็ไม่พบความทุกข์ เพราะเทวดากับพรหมไม่มีความทุกข์ ถ้ามีกำลังเต็มเมื่อไรไปนิพพานเมื่อนั้น ก็พูดกันไว้แค่นี้ก็แล้วกัน เป็นการเตือนใจบรรดาท่านพุทธบริษัท

สำหรับวันนี้ก็จะแนะนำ "คาถามหาเสน่ห์" ถ้าถามว่า "พระมีคาถามหาเสน่ห์ด้วยหรือ?" ก็ต้องตอบว่า "มี" ถ้าถามว่า "ใครเป็นครู" ก็ต้องตอบว่า "พระพุทธเจ้าเป็นครู" ถ้าจะมีคนถามว่า "พระพุทธเจ้าทรงตัดกิเลสได้แล้ว ยังมีเสน่ห์ด้วยหรือ?" ก็ต้องตอบว่า "คนไหนถ้าตัดกิเลสได้มาก เสน่ห์ก็มาก ตัดกิเลสได้น้อย เสน่ห์ก็น้อยลงมา ถ้ายังตัดกิเลสไม่ได้ไม่ได้เลย ระงับสิ่งที่ไม่เป็นเสน่ห์พยายามสร้างสิ่งที่เป็นเสน่ห์ขึ้นมา ก็มีเสน่ห์เหมือนกัน"
คำว่า "เสน่ห์" แปลว่า "ความรัก" ความรักซึ่งกันและกัน เป็นเยื่อใยแห่งความรัก ที่ดึงกำลังใจของบุคคลอื่นให้มารักเรา และก็เราเอง ถ้าคนอื่นเขาทำ เราก็รักเขาเหมือนกัน ถ้าต่างคนต่างมีเสน่ห์ บรรดาท่านพุทธบริษัท โลกนี้จะมีแต่ความสุข จะหาความทุกข์ไม่ได้ ความทุกข์จะมีบ้างก็แค่เรื่องของขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คือร่างกาย มันก็ต้องแก่ มันป่วย เป็นเรื่องธรรมดาของขันธ์ ๕ คือร่างกาย แล้วมันก็ตาย เราจะมีทุกข์อยู่บ้างเมื่อความแก่เข้ามาถึง เพราะร่างกายไม่ทรงตัว กำลังไม่ดี ความเชื่องช้าก็ปรากฎก็หนักใจอยู่นิดหนึ่ง ความป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้น มันก็มีความลำบากอยู่บ้าง มีความทุกข์อยู่บ้าง ความตายจะเข้ามาถึงก็มีความทุกข์บ้าง เพราะมีทุกขเวทนามาก แต่นอกจากอาการทั้ง ๓ อย่างนี้แล้ว เราจะมีแต่ความสุข เพราะคนที่มีเสน่ห์มากก็มีคนรักมาก ถ้าเราพบปะสังสรรค์กับสมาคมใด บุคคลใด เราเป็นคนมีเสน่ห์ สมาคมนั้นเขาไม่เกลียด ผู้ที่เกลียดก็คือว่า คนที่มีเสน่ห์ไม่เท่า เขามีเสน่ห์น้อยเกินไปมีคนรักน้อยเกินไป อาจจะมีการอิจฉาริษยากันได้ นี่เป็นของธรรมดา แต่ถ้าพบหน้ากันเข้าจริงๆ บ่อยๆ อาการอิจฉาริษยาก็จะหมดไป เหลือแต่ความรัก คาถามหาเสน่ห์นี่มีอยู่ ๔ ข้อ ๔ คำ คือ

๑. ไม่พูดปด ๒. ไม่พูดคำหยาบ
๓. ไม่พูดส่อเสียด ๔. ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล

นี่แหละเป็นคาถามหาเสน่ห์ คำว่า "คาถา" นี่มาจากภาษาบาลี แปลว่า "วาจาเป็นเครื่องกล่าว" ก็หมายถึงคำพูดที่เราพูดไปเอง คำพูดที่เราพูดออกไปนี่ ภาษาบาลี ท่านเรียกว่า "คาถา" (แต่คนไทยพูดเข้าเลยหาว่าเป็นคาถามหานิยมไปเลย เป็นการเสกคาถาไป) ความจริงไม่ใช่ นี่พระพูด ไม่ใช่หมอไสยศาสตร์ หมอเสน่ห์เล่ห์ลมพูด พระพูดถือบาลีเป็นพื่นฐานเป็นหลัก คาถาในที่นี้ถือว่า วาจาเป็นเครื่องกล่าว คือ คำพูด
อาตมาจำถ้อยคำของท่านสุนทรภู่ไว้ได้ตอนหนึ่ง ท่านกล่าวว่า

"คนเราจะชั่วหรือดีอยู่ที่ปาก จะได้ยากหิวโหยเพราะชิวหา"

หมายความว่า จะชั่วหรือดีอยู่ที่ปากพูด เสียงที่พูดออกไป จะได้ยากหิวโหยเพราะชิวหา คือลิ้นเป็นเครื่องแต่งเสียง (วันนี้ร่างกายไม่ดีมาก แต่ขอทำงานตามหน้าที่ เพราะปล่อยร่างกายดีก็ไม่ได้พูด ถ้าไม่ได้พูดงานก็ไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจ ก็ขอพูดทั้งๆ ที่เสียงก็ไม่ดีร่างกายก็ไม่ดี เพลียมากเหลือเกิน)
ก็รวมความว่า คนเราจะดีจะชั่วอยู่ที่ปาก การพูด พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าต้องการมีเสน่ห์

๑. อย่าพูดปดมดเท็จ แต่คนพูดปดมดเท็จนี่ ถ้าเขาจับไม่ได้มันก็ดี การยอมรับนับถือยังมีอยู่ ถ้าจับคำพูดปดมดเท็จได้เมื่อไรเมื่อนั้นแหละความเป็นที่เคารพนับถือก็ดี ความเป็นมิตรสหายซึ่งกันและกันก็ดี ก็ต้องสลายตัวไป เพราะอะไร? เพราะเราเป็นคนทำลายประโยชน์เขา ในเมื่อเราเป็นคนพูดปด คนที่จะคบหาสมาคมด้วยก็หายาก เพราะว่าถ้าพูดกิจการงานกับเขา เขาก็หวังไม่ได้ว่าเราจะพูดตามความเป็นจริง เรียกว่าเราจะต้องเป็นคนมีทุกข์มาก ไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วย

สำหรับคำพูดปดนี่ บรรดาท่านพุทธบริษัท อาตมาลองซ้อมดูแล้ว ความจริงข้อนี้ก็เป็นทั้งศีลทั้งธรรมนะ ศีลมีแค่พูดปด กรรมบถ ๑๐ ก็เติมพูดหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ข้อนี้ก็รวมทั้งศีลและก็กรรมบถ ๑๐ ด้วย
สำหรับวาจานี่ บรรดาท่านทั้งหลาย อาตมาเคยถามว่าการรักษาศีลห้า ระวังตอนไหน ส่วนมากจริงๆ บอกว่า หนักใจที่ มุสาวาท เขาว่าเขาจำเป็นต้องโกหก เขาถือว่าจำเป็น อย่างการค้าขายนี้ บรรดาท่านพุทธบริษัท ถ้าไม่โกหกมันก็ขายไม่ค่อยจะได้ บางทีไม่จำเป็นต้องโกหกก็ต้องโกหก เดี๋ยวพ่อค้าฟังแล้วเขาจะเกลียดนี่หรือเปล่าก็ไม่ทราบ ความจริงที่ว่าหนักใจก็ได้แก่พวกพ่อค้าแม่ค้า บรรดาท่านสตรีทั้งหลายนี่หนักใจมาก ว่าศีล ๔ ข้อพอรักษาได้ บอกว่าข้อมุสาวาทนี่หนักใจ แต่ความจริงถ้าเราไม่พูดโกหกจะได้ไหม ลองไม่พูดโกหกดู ดูซิจะขายของได้หรือไม่ได้ ของดีเราก็บอกว่า "นี่ของดีจริงๆ นะ" ไม่ได้หลอกลวงกัน ไอ้ที่ดีขนาดกลางก็บอกว่า นี่ดีขนาดกลาง ไอ้ที่ดีขนาดเลวก็บอกว่านี่ดีขนาดเลว ถ้าถามว่าขนาดเลวทำไมจึงว่าดี ก็เพราะยังเป็นของดีไม่แตกสลาย ผ้าไม่ขาด ขันไม่แตก แก้วไม่แตก ก็เป็นของดี แต่ว่าอัตราของมันเป็นของเลวหยาบไปหน่อย สวยน้อยไปนิด เนื้อละเอียดน้อยไปหน่อย อย่างนี้เป็นต้น ก็เรียกว่าดีขนาดเลว เราก็บอกตามความเป็นจริง ข้อนี้หวังว่าบรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิงคงไม่หนักใจ

มาอีกตอน เรื่องราคาของของ ราคาของของนี่จำเป็นต้องโกหกกัน ถ้าไม่โกหกมันขายราคาแพงไม่ได้ แล้วก็มีปัญหาอยู่ว่า สมมุติว่าของชิ้นนี้ในท้องตลาดเขาขายราคา ๑๐ บาท แต่ว่าต้นทุนจริงๆ มันเป็นบาทหรือสองบาทเท่านั้นไม่มาก ถ้ามีคนเขามาขอซื้อ เขาขอลด ไม่ใช่ต่อ บอก ๑๐ บาท เขาขอลด ๙ บาทหรือ ๘ บาท ถ้าต่อนั้นหมายความว่าต้องเป็น ๑๑ บาทหรือ ๑๒ บาท คงไม่มีคนซื้อคนใดเขาต่อให้มันสูงขึ้น มีแต่ว่าขอลดลง ว่าขอลดลงมาอย่างนี้ ถ้าเราขายไปเราก็เสียราคาท้องตลาด ถ้าขายถูกเกินไปนี่ บรรดาท่านพุทธบริษัทในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี่อาตมาเคยพบมา ตอนนั้นยังอยู่วัดประยุรวงศาวาส จะไปเทศน์ที่นครปฐม ข้ามสะพานพระพุทธยอดฟ้ามาที่พาหุรัด เพื่อขึ้นรถยนต์ที่นั่น รถโดยสาร ไปเจอกระเป๋าถือลูกหนึ่งชอบใจ ก็เข้าไปซื้อ ตกลงกับเจ็ว่าตอนเย็นจะมาเอา เขาปิดราคาไว้ ถามเขาบอกว่า จะเอาไปแต่เอาไปไม่ได้เพราะไปเทศน์ จะให้สตางค์ก่อนเอาไหม? เถ้าแก่ก็บอกว่าไม่ต้อง เห็นหน้ากันเกือบทุกวัน เขาไว้วางใจ แต่พอกลับมาปรากฎว่าของในร้านทั้งหมด เขาเขียนราคาสูงขึ้นไปหมด ราคาเดิมก็ไม่มี สมมุติว่าราคาเดิมเป็น ๑๐ บาท ตอนเช้ามองดูแล้วมันเป็น ๑๐ บาท แต่ว่าตอนเย็นกลับมามัยกลายเป็น ๑๓ บาทไป ของบางอย่าง กระเป๋าลกนั้นประเภทเดียวกัน ถามเขาเวลานั้นค่าเงินมันสูงเขาเอา ๒๐ บาท ตอนเช้าเขียนราคา ๒๐ บาท ในฐานะที่ชอบกันก็บอกว่า "ฉันเอาลูกหนึ่งฉันไม่ขอลดล่ะ เถ้าแก่จะลำบากเพราะรู้จักกันดี"

เถ้าแก่เลยบอกว่า "ท่านไม่ขอลดผมจะลดให้ ผมเอา ๑๘ บาท" แต่ตอนเย็นพอมาถึง ปรากฎว่ากระเป๋าประเภทนั้น ราคาขึ้นไปเป็น ๒๕ บาท ก็เลยถามว่า

"เถ้าแก่ เมื่อเช้านี้มัน ๒๐ บาทน่ะ นี่แค่ตอนเย็นมัน ๒๕ บาท ฉันจะเอาสตางค์ที่ไหนมาซื้อ"

เถ้าแก่ก็เลยบอกว่า "กระเป๋าของท่านอยู่ข้างในครับ ผมไปเก็บไว้ข้างในแล้ว ราคาผมก็เขียนเท่านี้เหมือนกัน แต่ผมรับสตางค์จริงๆ แค่ ๑๘ บาท"

ก็ถามว่า "ทำไมจำเป็นต้องขึ้นราคากันตามนี้ด้วยเล่า มันไวเกินไป"

เถ้าแก่ก็บอกว่า "หลังจากท่านขึ้นรถไปแล้วไม่นานนัก ประมาณ ๑ ชั่วโมงเศษ ก็มีเจ้าหน้าที่เขามาแจ้งบอกให้ขึ้นราคาของไปเท่านั้นเท่านี้ ต้องขึ้นราคาตาม เขาว่าของขึ้นไปกี่เปร์เซ็นต์ก็แล้วกัน ให้ข้นราคาของไปอย่างละกี่เปอร์เซ็นต์ ต้องทำตามเขา"

ก็เลยถามว่า "ถ้าเราไม่ขายตามเขาล่ะ เราขายถูกเราจะขายได้ดี เขาขายแพงขายไม่ได้ดี"

เถ้าแก่บอกว่า "ไม่ได้หรอกขอรับ ถ้าไม่ขายตามเขา เราขายถูกเขาจะส่งคนมาซื้อหมด เมื่อซื้อหมดแล้วเราก็ไม่สามารถจะหาของราคาเท่านั้นมาขายได้อีก เพราะเขาขายแพงขึ้น"

มันมีความจำเป็นต้องขายตามเขา แต่ในที่สุดท่านเถ้าแก่ก็เอากระเป๋าให้มาแล้วรับเงิน ๑๘ บาทตามเดิม เขามีความซื่อสัตย์ดี แต่ว่าป้ายที่เขียนไว้นั้นเป็นราคา ๒๕ บาท เถ้าแก่แกก็สั่งไว้ว่า "ถ้าใครเขาถามท่านให้บอกว่าเขาขายราคา ๒๕ บาทนะครับ ไม่งั้นผมเสียแน่"

แต่ความจริงอาตมามาถึงวัดคนนั้นถาม คนนี้ถามก็บอกว่า "อย่าบอกราคากันเลย ราคาไม่ต้องบอกกัน ป้ายเขาเขียนเท่านี้ก็เชื่อเท่านี้ก็แล้วกัน ผมจ่ายเท่าไรเป็นเรื่องของผม ให้ถือว่าป้ายเขาเขียนไว้เท่านี้ก็แล้วกัน"

แต่นั้นมา ถึงญาติโยมพุทธบริษัทที่จะต้องบอกราคาเกิน ความจริงถ้าบอก ของราคา ๒ บาท เราขาย ๑๐ บาท เขาขอลด ๘ บาท แล้วก็บอกว่า
"ไม่ได้หรอก ฉันซื้อมา ๙.๕๐ บาท แล้วนี่ฉันได้ ๕๐ สตางค์เท่านั้นเอง ถ้าจะลดก็ลดได้เพียง ๒๕ สตางค์ อย่างนี้โกหก เป็นมุสาวาท"

ทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นมุสาวาท? ก็ต้องตอบเขาเฉยๆ ว่า "ของต้นทุนมันแพงต้องขายเท่านี้ ถ้าจะลดได้ก็ลดได้แค่ ๕๐ สตางค์ หรือ ๒๕ สตางค์ ลดเกินกว่านั้นไม่ได้เพราะต้นทุนมันแพง" ถ้าเขาถามว่า "ต้นทุนแพงราคาเท่าไร?" ก็ตอบเฉยๆ ว่า "ของมันหลายชิ้นด้วยกัน ตอบยาก มันต้องเปิดตำรา" เท่านี้ก็หมดเรื่องหมดราว ไม่เป็นมุสาวาท

ก็รวมความว่า คนที่พูดมุสาวาทเป็นคนไร้สัจจะ คนเกลียด แต่พูดตามความเป็นจริง บรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิง ไปที่ไหนใครก็ชอบ คนทุกคนต้องการรับฟังวาจาที่ตรงตามความเป็นจริง แต่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทชายหญิงก็ต้องระวังเหมือนกัน

การพูดตามความเป็นจริงนั้นต้องเลือกเวลา อย่าพูดจนกระทั่งเขามีความเสียหายต่อหน้าประชาชนเกินไป ต้องใช้ปัญญาด้วย ความจริงข้อนี้เราควรจะพูดที่ไหน แล้วเวลาพูดนั้นเป็นเวลาควรจะพูดแล้วหรือยัง? ถ้าเป็นเครื่องสะเทือนใจของบุคคลผู้รับฟัง เวลาที่เขาอารมณ์ไม่ดีอย่าเพิ่งพูดความจริง รอเวลาอารมณ์ดีจิตใจเขาสบาย พูดอ้อมหน้าอ้อมหลังไปก่อน เห็นท่าว่าเขาจะยอมรับแล้วก็ไม่โกรธจึงควรพูด ถ้าพูดไปแล้วผู้รับฟังโกรธ บรรดาท่านพุทธบริษัท นั่นหมายถึงความตายจะเข้ามาถงผู้พูด ตามที่เขาพูดกันว่า "วาจาจริงเป็นวาจาไม่ตาย แต่คนพูดตามความเป็นจริงอาจจะตายได้" นี่ต้องระวังให้มาก ก็ถือว่าถ้าเราพูดตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง และบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทชายหญิง เลือกเวลาเหมาะเวลาสม ใช้ปัญญาหน่อย อย่างนี้ถือว่า วาจาเป็นทิพย์ ท่านจะมีความสุขมาก ในฐานะที่คนทั้งหลายมีความไว้วางใจในท่าน

สำหรับกรรมบถ ๑๐ และศีลข้อนี้อธิบายกันยาว เพราะนี่มันยาวไปหน่อยนะ
ต่อไปข้อหนึ่ง คือ "วาจาหยาบ" วาจาหยาบ เป็นเครื่องสะเทือนใจบรรดาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ถ้าไม่จำเป็นอย่าพูดเลย แต่ความจริงบางโอกาสก็จำเป็นต้องพูด จำเป็นต้องใช้ แต่ควรใช้เฉพาะบุคคลที่มีความจำเป็นของเรา อย่างคนที่อยู่ในปกครอง จะเป็นลูกหรือจะเป็นใครก็ตามเถอะ เพราะคนเรามีนิสัย ๒ อย่าง คนที่มีนิสัยละเอียด นี่เป็นคนดีมาก คนประเภทนี้ชอบปลอบ และค่อยพูดค่อยจามีเหตุผล รับฟังแล้วปฏิบัติตาม คนประเภทนี้พูดจาหยาบตึงตังไม่ได้ เสียหายกันเลย ทั้งนี้เพราะอะไร? เพราะเธอมาจากสวรรค์ ถ้าบางคนเป็นคนนิสัยหยาบ เธอมาจากอบายภูมิ ถ้าพูดอ่อนโยน อ่อนหวาน เสร็จแก ขี่คอแน่ คนประเภทนี้ไม่ต้องการวาจาดี ต้องใช้วาจาหยาบ ตึงตังโครมคราม นี่เฉพาะคนในปกครองของเรา มีความจำเป็นต้องใช้ให้เหมาะกับนิสัย แต่สำหรับกับเพื่อนบ้าน บรรดาญาติโยมทั้งหลาย อาตมาคิดว่าใช้วาจาอ่อนโยนดีกว่า วาจาอ่อนโยน และอ่อนหวานนี้เป็นประโยชน์มาก ทั้งนี้เพราะอะไร? เพราะว่าจะพูดที่ไหนใครก็ชอบ จะพูดที่ไหนใครก็รัก

แต่ว่าสำหรับเพื่อนที่คบหาสมาคมกันสนิทก็ไม่แน่นัก บางทีพูดเพราะๆ เข้าแกด่าเอาเลย หาว่าดัดจริต ฉะนั้น คำว่า "วาจาหยาบ" นี่ต้องดูเฉพาะบุคคล บางคนถ้าเป็นเพื่อน คบหาสมาคมมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก อาตมาพบท่านๆ หนึ่ง สมัยที่ยังไม่แก่นัก อาตมาก็ยังไม่แก่เกินไปนะเวลานั้น เวลานี้มันหาหนุ่มไม่ได้อยู่แล้ว มีแรงมาพูดได้ก็บุญตัว เวลานั้นยังไม่แก่เกินไป ไปพบคนๆ หนึ่งเคยเรียนหนังสือชั้นประถมมาด้วยกัน เธอเป็นอธิบดีกรมๆ หนึ่งๆ พอไปพูดจาหวานๆ เข้า แกชักกระชากเสียงว่า "ทำไมต้องพูดอย่างนี้ เมื่อสมัยเป็นเด็กอย่าลืมนะว่าเรียนหนังสือโต๊ะเดียวกัน ความเป็นใหญ่เป็นโต สำหรับเพื่อนรักไม่มีสำหรับเรากับท่าน" เขาว่าอย่างนั้น ว่าเพื่อนกันไม่มีอะไรใหญ่กว่ากัน ห้ามยกย่องสรรเสริญกันแบบนั้น นี่แบบนี้เขาก็มีนะ

แล้วก็มีคนอีกคนหนึ่งเพื่อนกัน เขาเป็นฆราวาส เขาก็ไปพบเพื่อนของเขาเหมือนกัน คนนี้ออกมาจากโรงเรียนแล้วก็ไม่มีงานราชการทำ เธอไม่อยากจะทำ อยากจะทำงานส่วนตัว ก็เดินไปเดินมาแบบพ่อค้าหาบเร่ แต่ความจริงไม่เสียหาย ติดต่อของที่โน่นเอามาขายที่นี่ ติดต่อที่นี่ไปขายที่โน่น รู้สึกว่ารายได้ดี รายได้ของเธอดีมาก บางวันสมัยนั้นค่าของเงินยังแพงอยู่ ก๋วยเตี๋ยวชามละ ๕ สตางค์ บางวันเธอได้กำไรเป็นร้อยๆ นับเป็นร้อยๆ บางวันถึงพัน อย่างไม่ได้เลยก็ ๒-๓ ร้อยบาท นี่แค่เฉพาะกำไร รวยมาก ดีกว่ารับราชการ เธอไปพบเพื่อนคนหนึ่งเป็นอธิบดีเหมือนกัน (คำว่า "เหมือนกัน" ก็เหมือนกับเพื่อนอาตมาอีกคนหนึ่ง) มาถึงก็ยกมือไหว้ "ท่านครับ" ครับผมเข้าให้ อธิบดีหันมาด่าเลย บอก "นี่..มึงอย่ามาพูดกับกูแบบนี้ กูไม่ใช่นายมึง กูเป็นเพื่อนของมึง ทีหลังห้ามพูดนะ" นายนั่นก็บอกว่า "ท่านเป็นอธิบดี" แกก็เลยกระชากเสียงมาใหม่บอก "กูเป็นอธิบดีสำหรับคนอื่น ไม่ใช่อธิบดีของมึง มึงเป็นเพื่อนกู ไปกินเหล้าด้วยกัน" ชวนไปกินเหล้ากันเลย

รวมความว่า วาจาหยาบต้องดูเฉพาะบุคคลที่ควรไม่ควร รวมความว่า แหม..ถ้าใช้หวานๆ เกินไป สำหรับเพื่อนก็ไม่ดีเหมือนกัน ถ้ากร้าวเกินไปสำหรับเพื่อนบางคนก็ไม่ดีเหมือนกัน ต้องเลือกวาจาใช้ รวมความว่าใช้วาจานิ่มนวลไม่หยาบคายมีประโยชน์กว่า เป็นที่รักของบุคคลทั่วไป นี่ว่าสำหรับคนทั่วไปนะเป็น "คาถามหาเสน่ห์" เหมือนกัน

เวลามันเหลือน้อย ย้ำไปมาก ซอยไปมาก มันจะยุ่งแล้วหลวงตา มันจะจบไม่ทัน เสียงก็แห้งลงมาทุกที แรงมันหมด มันยังไม่ตายก็พูดไปก่อน พูดให้มันขาดใจตายไปเลย

ก็รวมความว่า ต่อไป "วาจาส่อเสียด" เรื่องการยุแยงตะแคงแสะ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย อย่าให้มีเด็ขาด อันนี้ไม่มีประโยชน์สำหรับเราเลยท่าน เรายุให้เขาแตกแยกกันก็อย่าลืม หอกนั้นมันจะสนองเรา อย่าลืมว่าคนทุกคนนะเขามีปัญญา ทีแรกถ้าเขายังไม่พบหน้าซึ่งกันและกัน เขาอาจจะเชื่อเรา และคนที่มีปัญญาเบาคือจิตทรามไร้ปัญญาก็แล้วกัน เมื่อรับฟังแล้วก็เชื่อเลยประเภทนี้ก็มี แบบนี้สร้างความแตกร้าวให้เกิดขึ้นมาเยอะ คนบางคนเขาใช้ปัญญาก็มีเหมือนกัน ถ้าบังเอิญเขาพบกันเข้า ไต่สวนกันเข้าเมื่อไร วาจาที่เรายุแยงตะแคงแสะไว้มันไม่ตรงตามความเป็นจริง ตอนนี้แหละ ญาติโยมพุทธบริษัทชายหญิง เรื่องร้ายก็ตกกับเรา เขาเกลียดน้ำหน้า ดีไม่ดีแทนวาจาจะต่อว่า กลายเป็นอาวุธไปก็ได้ เขาอาจจะจ้างคนมาฆ่าให้ตาย หรือเขาจะฆ่าเองก็ได้ ข้อนี้อย่าทำ

แล้วสำหรับอีกวาจาหนึ่ง คือ "วาจาเพ้อเจ้อเหลวไหล" คือวาจาไร้ประโยชน์ นี่บรรดาท่านพุทธบริษัท อย่าให้มีเป็นอันขาด พูดไปมันก็เหนื่อยเปล่า ถ้าคนเลวเขารับฟังก็ฟังได้ แต่ถ้าเป็นการเล่านิทานไม่เป็นไร ไม่ไร้ประโยชน์ สร้างความรื่นเริงบันเทิงใจให้เกิดแก่ผู้รับฟัง นิทานใครๆ ก็ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องจริง แต่วาจาที่พูดกับเพื่อน ถึงแม้ว่าไม่ใช่วาจาที่เป็นงานเป็นการ แต่พูดไปไร้เหตุไร้ผลนี่ บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนอย่าพูดเลย ทั้งนี้เพราะอะไร? เพราะพูดไปเราก็เป็นคนเสีย วันหลังถ้าไปเจอะหน้ากันเข้าหรือเข้าไปพบกัน เขาไปพบกับคนอื่นใดเขาจะกล่าวว่า "ไอ้หมอนั่น อีหมอนี่มันไม่ดี พูดส่งเดชไร้ประโยชน์" ต่อไปข่าวนี้กระจายมากไปเท่าไรก็ตามที เราก็เป็นคนเสียเท่านั้น ทีหลังจะพูดอะไรกับใครเขา เขาก็ไม่อยากจะฟัง ถ้ามีความทุกข์ปรารถนาจะขอความช่วยเหลือ เขาก็ไม่อยากช่วย เพราะเขาไม่เชื่อวาจาของเรา

นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ตามที่ท่านสุนทรภู่ท่านว่าไว้ว่า "จะชั่วหรือดีอยู่ที่ปาก จะได้ยากหิวโหยเพราะชิวหา" นี่เป็นความจริง ถ้าเราเป็นคนพูดที่

๑. พูดตามความเป็นจริง
๒. ไม่พูดหยาบคาย ใช้วาจาไพเราะ
๓. ไม่ส่อเสียด ไม่ยุยงส่งเสริมเขาให้แตกร้าวกัน
๔. ใช้วาจาเฉพาะที่วาจาที่เป็นประโยชน์

ทั้ง ๔ ประการนี้ คำว่า "โทษ" ไม่มีกับเรา มีแต่คุณเท่านั้น จะไปที่ไหน จะพูดที่ไหน ใครก็อยากรับฟัง เขาถือว่า วาจาเป็นทิพย์

เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย วันนี่แรงก็จะหมดพอดี พูดไปเสียงก็กลั้วไปเสียงก็แห้งไป เวลาก็หมดก็ขออำลาแต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล จงมีแด่บรรดาท่านพุทธบริษัทศาสนิกชนทุกท่าน สวัสดี

วันจันทร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558

“ต่อบุญบารมี”...โดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ

“ต่อบุญบารมี”...โดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ
หนังสือคำสอนหลวงพ่อวัดท่าซุงเล่มที่ 22 หน้า 112-113 บางส่วน

ทางด้านการภาวนา การภาวนานี้แปลว่าเจริญ คือใช้สติปัญญาให้เกิดขึ้น อันดับแรก ทำจิตให้เป็นสมาธิ ในเมื่อจิตเราพอใจในการให้ทาน พอใจในการรักษาศีล การพอใจและการนึกถึงอยู่เขาเรียกว่าสมาธิ เมื่อ สมาธิเกิดขึ้นปัญญาก็เกิด นี่ตัวภาวนานะ ตัวปัญญาก็เกิดว่าเรารักษาศีลเพราะอะไร ก็เพราะว่าเราเกิดมาแล้วไม่ได้อยู่ตลอดกาลตลอดสมัย ร่างกายของคนทุกคนและสัตว์ก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีเกิดขึ้นในเบื้องต้น และก็มีความแปรปวนในท่ามกลางมีการแตกสลายคือในที่สุด ในที่ความตายก็เข้ามาถึงเรา อันนี้เป็นมรณานุสสติกรรมฐาน ทำทีเดียวได้หลายอย่าง
ในเมื่อเราคิดอย่างนี้แล้วว่า ถ้าเราตายไปชาตินี้เราเป็นคนให้ทาน ทานจะเป็นปัจจัยให้เราได้มีความสุขในด้านทรัพย์สิน เราเป็นคนมีศีล ศีลจะทำให้เรามีความสุขในด้านร่างกายและความเป็นอยู่ตามที่กล่าวมาแล้ว การเจริญภาวนาเป็นเหตุทำให้คนมีปัญญา ถ้าปัญญาเราน้อยก็สามารถเกิดเป็นเทวดานางฟ้าก็ได้ เป็นพรหมก็ได้ตามความพอใจ ถ้ามีปัญญามีมากถึงที่สุดก็ไปนิพพานได้
ก็รวมความว่าทั้งสามอย่างนี้ให้มีไว้ในใจไว้เสมอ ทีนี้มาว่าถึงภาวนา จะใช้อะไร เมื่อกี้ว่าภาวนาว่า พุทโธ เป็นการนึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ การนึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ การนึกถึงพระพุทธเจ้านี่บรรดาพุทธบริษัท ทุกคนนึกถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน เวลานี้พระพุทธเจ้าอยู่ที่นิพพาน ความรู้ทั้งหมดที่เราใช้เป็นของพระพุทธเจ้าทั้งหมด ถ้าเรานึกพระพุทธเจ้า ก็ชื่อว่าเราเชื่อพระพุทธเจ้า มีศรัทธาท่าน มีความเชื่อท่าน ในเมื่อมีความเชื่อมีความศรัทธาในท่าน เราก็ปฏิบัติตามท่าน

๑.การให้ทาน เราทำแล้ว
๒.การสมาทานศีล เราทำแล้ว
๓.การเจริญภาวนา เราทำแล้ว
และถ้าบุญบารมีของท่านยังอ่อนต้องเร่ร่อนไปในวัฏสงสาร อย่างน้อยที่สุดก็เกิดเป็นคนรวย เป็นคนสวย เป็นคนมีปัญญา หรือมิฉะนั้นก็เป็นเทวดา เป็นนางฟ้า เป็นพรหม แต่ว่าเราเกิดทุกชาติเราจะไม่พลาดพระพุทธเจ้า ไม่พลาดจากพระพุทธศาสนา จะมีการต่อบุญบารมีกันเรื่อย

วันพุธที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558

ความดีที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกันและกันนั้นพระพุทธเจ้าตรัสเพื่อ ฆราวาสปฏิบัติ ท่านเรียกว่า สังคหวัตถุคือการสงเคราะห์ ซึ่งกันและกัน ปัญหาธรรมของฆราวาสผู้ครองเรือน โดย พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) จาก หนังสือ หลวงพ่อ ตอบปัญหา เล่ม ๒

ความดีที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกันและกันนั้นพระพุทธเจ้าตรัสเพื่อ ฆราวาสปฏิบัติ ท่านเรียกว่า สังคหวัตถุคือการสงเคราะห์ ซึ่งกันและกัน

ปัญหาธรรมของฆราวาสผู้ครองเรือน
โดย พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)
จาก หนังสือ หลวงพ่อ ตอบปัญหา เล่ม ๒

ผู้ถาม : หลวงพ่อครับ ความดีที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกันและกัน เหมาะที่จะปฏิบัติสำหรับฆราวาส ควรจะใช้ธรรมะข้อใดครับ.....................?

หลวงพ่อ : ความดีที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกันและกันนั้นพระพุทธเจ้าตรัสเพื่อ ฆราวาสปฏิบัติ ท่านเรียกว่า สังคหวัตถุคือการสงเคราะห์ ซึ่งกันและกันมี ๔ ข้อด้วยกันคือ

๑. ทาน การให้ การแบ่งปันของที่มีและพอจะมีให้กัน ได้แก่ ผู้ที่ขาดแคลน ถึงแม้จะไม่ครบถ้วน แต่ก็เป็นเหตุให้เกิดความรักแก่ผู้ที่ได้รับ

๒. ปิ ยิวาจา คือพูดเพราะ อ่อนหวาน ทำให้ผู้รับฟังให้สบายใจเป็นเหตุ

๓. สมานัตตตา ไม่ถือตัวเกินไป ทำตนเสมอ ไม่รังเกียจซึ่งกันและกันโดยฐานะ โดยตระกูล โดยความรู้ เป็นต้น เมื่อไม่ถือตัววางตัวสนิทสนม ถือว่าเป็นพวกเดียวกัน ก็เป็นปัจจัยให้เกิดความรัก ความสามัคคี

๔. อัตตถจริยา ช่วยงานที่เพื่อนทำไม่ไหว ด้วยความเต็มใจจะสงเคราะห์ ไม่ทวงความดีที่ทำให้ อย่างนี้ก็เป็นเหตุให้เกิดความรัก ความสามัคคี
เมื่อต่างคนต่างรัก สนิทสนมกัน ด้วยอาศัยเหตุ ๔ ประการนี้ ต่างก็มีความสุข ความสบายทั้งกายและใจ

ผู้ถาม : องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านตรัสไว้เช่นไรในเรื่องการแต่งงาน ขอหลวงพ่อช่วยโปรดอธิบายด้วยครับ และฤกษ์ดีของพระพุทธเจ้าให้ทำเช่นไรจะเป็นมงคลครับ....?

หลวงพ่อ : เรื่อง ฤกษ์การแต่งงาน พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสท่านได้แต่เพียงแนะนำผู้แต่งงานว่าสามีควรปฏิบัติต่อ ภรรยา คือ

ยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา
ไม่เหยียดหยามดูหมิ่น ภรรยา
ไม่นอกใจภรรยา คือไม่เจ้าชู้
มอบความเป็นใหญ่ในบ้านให้ แต่คอยเตือนเมื่อเธอเผลอตัว
ให้เครื่องแต่งตัวตามฐานะ ผู้หญิงชอบยกย่องและรางวัลแม้มีค่าน้อยก็พอใจ
ถ้าทำได้อย่างนี้ ไม่มีเรื่องทะเลาะกัน

ส่วนภรรยาต้องปฏิบัติต่อสามีเช่นกัน คือ
จัดงานดี ต้องดีตามที่ตนเห็นว่าดี และเป็นความดีที่มีความพอใจร่วมกันทั้งสามี และผู้ใหญ่และญาติโยม ของสามีด้วย ถ้าดีคนเดียวประเดี๋ยวพัง
สงเคราะห์คนข้างเคียงสามีด้วย
ไม่เจ้าชู้นอกใจสามี
รักษาทรัพย์ดี รู้จักเก็บหอมรอมริบ ไม่สุรุ่ยสุร่าย
และขยันไม่เกียจคร้านในการงานทุกอย่าง
ถ้าสามี ภรรยาคู่ใดทำได้อย่างนี้ ฤกษ์ดีตลอดเวลา แต่งตามพิธีหรือแต่งกันเองก็ฤกษ์ดี ไม่ต้องไปหาหมอให้ฤกษ์หรอกนะ

ผู้ถาม : ลูกขอกราบรบกวนหลวงพ่อ คือว่าเวลาก่อนจะออกจากบ้านไปทำงานหรือไปไหน ก็ต้องกราบพระและพ่อแม่อธิษฐานขอให้ลูกปลอดภัย และเวลาทำวัตรเช้า - เย็น ก็บอกพ่อและแม่ให้ฟัง หรือบางทีก็พูดถึงแม่บ่อย ๆ ด้วยความคิดถึง แต่มีคนทักท้วงว่า "ไม่ควรจะพูดถึง เพราะจะทำให้แม่กังวลและเป็นห่วง" ก็เลยมีปัญหาอยากจะถามหลวงพ่อว่า ควรจะทำอย่างไรคะ......?

หลวงพ่อ : ปฏิปทาที่บอกมาทำถูกแล้ว เรื่องที่คนพูดว่า เป็นการรบกวนพ่อแม่ ที่จริงเป็นการ กตัญญู ที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญมากกว่า การสนองความดีของท่านด้วยการนึกถึง หรือกล่าววาจาถึงท่านเป็นการสรรเสริฐความดี ไม่ลือความดีที่ท่านอุปการะมาเป็นความดีอย่างเลิศ และถ้ายิ่งปฏิบัติตามคำแนะนำของท่านด้วยเช่นกันทั้ง ๒ ประการ พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่า เป็นยอดของคนดี ตามพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า

นิมิต ตัง สาธุรูปานัง กตัญญูกตเวทิตา
แปลว่า ท่านผู้ใดท่านอุปการะมาในกาลก่อน การตอบสนองท่านด้วยความดี พระองค์ตรัสว่า เราเรียกคนนั้นว่าเป็นคนดี

เมื่อคุณทำความดีแล้ว ทำไมจะต้องคิดว่ารบกวนท่านล่ะการนึกถึง การกราบไหว้ ไม่ใช่รบกวน เป็นการทำความดีที่หาได้ยาก ขอให้ทำต่อไปนะ จะได้มีกำลังใจเป็นสุข

คนที่ไม่ลืมความดีของท่านผู้มีคุณ คนประเภทนี้มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง หาทางตกต่ำยาก เป็นที่รักของสังคมคนดีนะ

ผู้ถาม : กราบขอบพระคุณค่ะ" (อีกท่านหนึ่งถามว่า)
หลวงพ่อคะ หลวงพ่อเคยบอกว่า กลุ้มนี่ลงนรกใช่ไหมคะ......?

หลวงพ่อ : ใช่

ผู้ถาม : ถ้าหากว่าเรากลุ้มกับผู้มีพระคุณ อย่างเช่นบิดา มารดา เวลาท่านป่วย อย่างนี้ล่ะคะ......?

หลวงพ่อ : กลุ้มเวลาปกติไม่เป็นไร ถ้ากลุ่มเวลาใกล้จะตายนี่ซิหมายถึงว่าเวลาใกล้จะตาย อย่าให้ใจมันกลุ้ม ถ้าจิตมันจะออกจากร่าง ถ้ากลุ้มจุดนี้ มีจุดเดียว ที่ท่านบอกว่า

จิต เต สังกิลิฏเฐ ทุคติ ปาฏิกังขา
ถ้าก่อนตายจิตกลุ้มอารมณ์ เศร้าหมองก็ไปทุคติ ความกลุ้มนี่ มันต้องกลุ่มทุกคนละ ใช่ไหม.......คนที่ไม่กลุ้มเมื่อยามปกติมีคนเดียวคือพระอรหันต์ ในเมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วไม่กลุ้ม อย่างพระโสดาบันก็ต้องกลุ้ม พระสกิทาคาก็ยังมีกลุ้ม พระอนาคตมีก็ยังกลุ้ม แต่ท่านว่ากลุ้มในยามปกติแต่เวลาจะตายจริง ๆ ท่านไม่กลุ้ม ใช่ไหม...

การ กลุ้มในฐานะเราหวังดีต่อบิดามารดา แต่บังเอิญไปขัดใจกับท่าน ก้เป็นของธรรมดา แต่ว่าเวลาที่เราจะตาย จุดนั้นน่ะเขาถือ เวลาที่จะตายอย่างเดียวนะ แล้วก็ตายทันที ถ้าหากว่าเรากลุ้มอยู่เป็นปกตินี่ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็หายไป ใช่ไหม........ฉะนั้นก็ฝึกระบายความกลุ้มซิ

อารมณ์กลุ้มจงพยายามอย่า ให้มันมี พยายามแก้ไขอารมณ์นั้นให้เสมอ ๆ ถ้ากลุ้มมันมีอยู่ พยายามฝืนความกลุ้ม ถือว่ามันเป็นกฎธรรมดาของการเกิด ถ้าเกิดมาแล้ว มีใครบ้างไหมที่ไม่พบอารมณ์อย่างเรา ทุกคนต้องประสบทั้งนั้น
ทีนี้ เราก็หาทางตัดมัน ถือว่าเป็นของธรรมดา สิ่งใดควรจะต้องทำเราต้องทำ สิ่งที่มันจะต้องกระทบ เราต้องหาทางแก้ไขเท่าที่มันจะทำได้ ต้องพยายามฝึกไว้เสมอ ๆ ถ้าไม่ฝึกแบบนี้ไว้มันต้องพบกับอารมณ์ขัดใจแน่นอน ทุกคนต้องมี
ถ้าเป็นลูกบ้านกลุ้มแค่ลูกบ้าน
เป็นพ่อบ้านแม่ บ้านก็กลุ้มมากกว่าลูกบ้าน
ถ้าเป็นผู้ใหญ่บ้าน ก็กลุ้มมากกว่าพ่อบ้านแม่บ้าน
ถ้าเป็นกำนันก็กลุ้มมากกว่า เพราะภาระมันหัก

ทีนี้เราก็ต้องคิด ถ้าอะไรมันเกิดขึ้นมันเป็นความทุกข์สำหรับเรา อย่างเราขัดข้องทางการเงิน เราก็ต้องมองคนที่เขาต่ำกว่าว่า คนที่จนกว่าเรามันมี อย่างนี้จะสร้างความภูมิใจให้ดีขึ้น อย่าไปมองคนสูงเสมอ มองที่เขาสูงกว่าเราก็ใจเสีย ต้องมองจุดที่ต่ำกว่าเรา ถ้าเรากลุ้มเราลำบากขนาดนี้ คนที่กลุ้มคนที่ลำบากกว่าเรายังมีอยู่ และถือว่าเราก็ยังดีอยู่

รวมความแล้วไม่มีอะไร ที่พระพุทธเจ้าสอนว่า ให้คนรู้จักกฎของธรรมดา คือยอมรับนับถือกฎของธรรมดา เมื่อยอมรับทราบมัน ถ้าสิ่งนั้นมากระทบ เราจะได้ไม่กลุ้ม

วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558

"อย่าคิดว่าเราดีกว่าหมา" โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน

"อย่าคิดว่าเราดีกว่าหมา"
โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (ลพ. ฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี)
คัดลอกบางตอนจาก หนังสือ "หลวงพ่อเล่าให้ฟังเล่ม ๒" หน้า ๕๙-๖๒


...แต่ความจริงพวกสัตว์ประเภทนี้นะ เวลาตายจริงๆ มันก็ได้เปรียบเราเหมือนกัน โยม! ถ้าเป็นสุนัขที่คนเลี้ยงแล้ว คนสงเคราะห์นี่ บาปเก่ามันเริ่มหมด พวกนี้ตายปุ๊บลงไปมี ๒ ทาง ถ้าไม่ไปเป็นเทวดาหรือพรหม ก็เป็นมนุษย์ มันไม่ลงล่าง ได้เปรียบมากกว่าเรา เรามาถึงขั้นเป็นมนุษย์แล้ว ถ้าไม่ดีตีตั๋วลงนรกใช่ไหม ใช่ไหม
พวกนี้ชำระหนี้มาเพื่อหมด นี่เราเสียท่ามันอีกนะ ถ้าไม่ปฏิบัติดียิ่งเสียท่าหนัก หมาดันไปสวรรค์เป็นเทวดา เรากลับไปเป็นสัตว์นรกอีก แหม ..(หัวเราะ)
อ้าวนี่พูดตามความเป็นจริงนะ คือว่า คนเหยียดหยามสุนัข บางทีก็รู้สึกสลดใจนะโยม คนนี่มันไม่แน่ ตายแล้วอาจจะลงนรกได้ พวกหมานี่ไม่ลงแน่ ถ้าเขาใช้หนี้กรรมของเขายังไม่หมด เกิดเป็นหมาชาตินี้ ชาติหน้าเป็นหมาใหม่ก็ได้ ใช่ไหม
แต่ว่าหมาตัวไหนที่ชาวบ้านเลี้ยง เลี้ยงก็แบบเราเลี้ยงธรรมดานี่แหละ มีการให้กินข้าวใช่ไหมล่ะ
ถ้าคนสงเคราะห์แสดงว่ากรรมเก่าเริ่มหมด
ถ้าไอ้ตัวไหนยังต้องเดินอดเดินอยากอยู่ อันนี้ก็ต้องเกิดอีกต่อไปอีก
เขาอยู่กับคนจนหรือคนรวยไม่สำคัญ คือว่าเจ้าของมีโอกาสให้ข้าวกิน นั่นแสดงว่า ทานบารมี เดิมกับ เมตตาบารมี เดิมของเขาเริ่มให้ผลใช่ไหม
ฉันสังเกตุดูหลายตัว ถ้าหมาในวัดตายทีไร ไม่เป็นเทวดาก็พรหม เพราะมันชอบใจในพระ พระสงเคราะห์ พระให้อาหารหมา อาหารแค่ไหนไม่สำคัญ ให้มันผูกจิตใจกับพระ
อย่าง โฆษกเทพบุตร ท่านไม่ได้ทำอะไรมาก ท่านรักพระปัจเจกพุทธเจ้า ตายแล้วก็เป็นเทวดา เป็น โฆษกเทพบุตร ตอนนั้นเป็นหมาใช่ไหม นี่หมาอยู่กับวัดได้เปรียบ
แต่ว่าตัวไหนถ้าอยู่ที่บ้าน ชาวบ้านเขาสงเคราะห์ ก็สงเคราะห์อย่างเราให้กินน้ำข้าวบ้าง กินข้าวบ้าง อาหารเหลือบ้าง อันนี้น่ะ เมตตาบารมี กับ ทานบารมี เดิมของเขาเริ่มสนองแล้ว
ทีนี้ถ้าตายแล้วไปสวรรค์หมด ถ้าไม่ไปสวรรค์ก็ไปเป็นคน ถามว่าไปสรรค์ชั้นไหน อันนี้ก็ต้องบอกแล้วแต่บุญเดิม บุญเดิมที่ทำไว้ของเขาทำอะไรไว้ใช่ไหม
นั่นก็หมายความว่า ก่อนที่เขาตายจากความเป็นคน บาปทำให้เขาไปเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้าที่ที่สุดแล้วชำระหนี้บาปหมด ก็เหลือแต่บุญ ซึ่งตรงข้ามกับคน
คนสร้างบาปอกุศลไว้ในตอนต้น แล้วมาตอนหลังสร้างบุญบารมีดี ตายจากความเป็นคน เป็นเทวดาหรือพรหม ถ้าหมดบุญวาสนาบารมี พุ่งหลาวเลย ลงนรกไปเลย มันก็ต้องสนองกันแบบนี ไม่ใช่ว่าเราเกิดเป็นคนแล้วต้องเกิดเป็นคนตลอดไป มันหวังอยากเหมือนกัน...

วันเสาร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2558

ถวายข้าวพระพุทธรูป ถวายข้าวต่อหน้ารูปพระสงฆ์ อย่างเลวที่สุดไปสวรรค์ชั้นสูง หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง

ถวายข้าวพระพุทธรูป ถวายข้าวต่อหน้ารูปพระสงฆ์ อย่างเลวที่สุดไปสวรรค์ชั้นสูง
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง
ที่มา : หนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม (การปฏิบัติธรรม)

"ถวายข้าวพระพุทธรูป ถวายข้าวต่อหน้ารูปพระสงฆ์ อย่างเลวที่สุดไปสวรรค์ชั้นสูง ไม่งั้นก็เป็นพรหมเลย

ถ้าบังเอิญคนที่ถวายประเภทนั้นเขาเกิดไม่นิยมร่างกาย

เมื่อใกล้จะตาย พอป่วยแล้วเจ็บโน่น ปวดนี่รำคาญ ขึ้นมา

เอ๊ะ..นี่ร่างกายเลวๆ อย่างนี้เราไม่ต้องการอีก

ไปนิพพานทันทีเหมือนกัน นิพพานนี่ไปไม่ยาก

ถ้าฉลาดนี่ไปไม่ยาก"

หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม

ผู้ ถาม : โดยปกติหนูต้องถวายอาหารรูปเหมือนหลวงพ่อเป็นประจำ บางครั้งต้องไปค้างที่อื่น จึงบอกกับรูปเหมือนหลวงพ่อว่า พรุ่งนี้ไม่อยู่นิมนต์หลวงพ่อไปฉันที่บ้านอื่นก่อนนะ ขอถามว่าที่หนูพูดอย่างนี้ จะผิดหรือเปล่าเจ้าคะ?

หลวงพ่อ : มิน่าเล่าบางวันท้องกิ่วหิว ไม่ผิดล่ะ ถูก ก็มีอะไรผิดบ้าง ก็พูดตัวเอง ได้ยินฟังรู้เรื่องก็ถูก

ผู้ถาม : หลวงพ่อได้ยินหรือเปล่าไม่รู้?

หลวง พ่อ : อ้าว...ไอ้นั่นไม่ใช่ทานนะ มันเป็นการบูชา คำว่าบูชาเป็นการยอมรับนับถือ ถวายข้าวกับพระพุทธรูปนี่ไม่ใช่ถวายทาน เป็นการบูชาพระพุทธรูปใช่ไหม ถวายข้าวต่อหน้ารูปพระสงฆ์ ก็เป็นการบูชาพระสงฆ์ บูชา นี่แปลว่า การยอมรับนับถือ เป็นความดีของเขาเป็นอนุสสติ ถ้าประเภทนี้ตายแล้วลงนรกยาก โอกาสลงนรกนี่ยากจริงๆ เพราะว่าจิตไปจับทุกวันจิตเกาะอยู่ จิตต้องเกาะอยู่ ที่นี่เขาถือว่าเป็นฌาน

ถวาย ข้าวพระพุทธรูปพอถึงเวลา เราจะให้อะไรนะ หาอะไรไปถวายใช่ไหม ถวายข้าวพระพุทธรูป พระสงฆ์ถึงเวลาเราจะถวาย จิตมันคิดเสมอ นึกถึงพระสงฆ์ที่เราจะถวาย เป็นสังฆานุสสติกรรมฐาน นึกถึงพระพุทธรูป เป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน และนึกไว้เป็นประจำวันนี่ก็เป็นฌานด้วย นี่อย่างเลวที่สุดไปสวรรค์ชั้นสูง ไม่งั้นก็เป็นพรหมเลย ถ้าบังเอิญคนที่ถวายประเภทนั้นเขาเกิดไม่นิยมร่างกาย เมื่อใกล้จะตาย พอป่วยแล้วเจ็บโน่น ปวดนี่รำคาญ ขึ้นมา เอ๊ะ..นี่ร่างกายเลวๆ อย่างนี้เราไม่ต้องการอีก ไปนิพพานทันทีเหมือนกัน นิพพานนี่ไปไม่ยาก ถ้าฉลาดนี่ไปไม่ยาก

ผู้ถาม : แค่เบื่อร่างกายตัวเดียวหรือครับ?

หลวงพ่อ : ก็เขาตัดตัวเดียวคือ สักกายทิฏฐิไง

ผู้ถาม : อ๋อ...ไม่ต้องไปไล่ตัวอื่นหรือครับ?

หลวง พ่อ : โอ้ย...ไปไล่นะซวย มันเหนื่อย การบรรลุมรรคผลน่ะเขาไม่ได้ไล่ตามลำดับหรอก พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า พระอริยเจ้านะมี ๔ อันดับ พระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ ส่วนใหญ่จริงๆ ฟังเทศน์ พระพุทธเจ้าจบเดียวเป็นอรหันต์ทันทีเยอะแยะ เห็นไหมล่ะ ตามพระสูตรที่เรียนมานะ บางท่านก็ติด แหงแก๋แค่พระโสดาบัน อย่างพระอานนท์นี่ ล่อพระโสดาบันซะเกือบ ๔๐ ปี ปี้ดป๊าดทีเดียวไปเป็นปฏิสัมภิทาญาณเลย และเก่งมากด้วย ใช่ไหม ก็มีหลายท่านอยู่ปุ๊บปั๊บเป็นอรหันต์ กันเป็นแถวๆ อย่างลูกศิษย์ของพระสารีบุตร เป็นอรหันต์หมดใช่ไหม ก็เยอะแยะไป ไม่จำเป็นต้องบรรลุตามลำดับ ชื่อของพระอริยะ ขั้นของพระอริยะมี ๔ ขั้นจริง แต่ไม่จำเป็นต้องบรรลุตามขั้น นี่การปฏิบัติพระกรรมฐานขอทุกคน ถ้าหวังตามขั้นก็โง่เต็มที นี่การปฏิบัติจริงเขาไม่หวังตาม ขั้นหรอก อันดับแรกสุด ถ้ากำลังเราไม่มั่นใจแน่นอนต้องยึดอารมณ์พระโสดาบันก่อน ถ้าได้ไอ้นี่แล้วก็จับพระอรหันต์ทันที
ผู้ถาม : อ๋อ...ตีข้ามกระโดดไปเลย
หลวง พ่อ : ไม่กระโดด นั่งเฉยๆ ตามแบบจริงๆ ท่านก็แนะนำแบบนั้น อย่างท่านพุทธโฆษาจารย์ ที่รจนาวิสุทธิมรรค ท่านก็บอกไว้ตรงว่า “บุคคลใดถ้าถึงพระโสดาบันในที่นั่งใด ให้ทำจิตเข้าถึงอรหันต์ใน ที่นั่งนั้นทันที” คือว่าไม่ยากอรหันต์นี่ แค่ไม่ต้องการร่างกายเท่านั้นล่ะ ถ้าไม่ต้องการจริงๆ ก็เป็นอรหันต์ ตัดตัวเดียวคือการตัดกิเลสจริง เขาตัดสักกายทิฏฐิ ที่พระไปถามพระสารีบุตรว่า "ผมเป็นปุถุชน จะเป็นพระโสดาบันเป็น อย่างไร" ก็พิจารณาร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ใช่ไหม เป็นสกิทาคามีล่ะ ก็ไอ้ตัวนี้ถ้าละเอียด ก็เป็นสกิทาคามี ถ้าผมจะเป็นอนาคามี ก็ปฏิบัติไอ้ตัวนี้จิตละเอียดลงไปอีก เบื่อหน่ายร่างกายก็เป็นอนาคามี ต้องการเป็นอรหันต์ก็ไอ้ตัวนี้ ถ้าจิตวางเฉยได้ก็เป็นอรหันต์ พระองค์นั้นก็แน่เหมือนกัน ถามอีกว่าเป็นอรหันต์แล้วไม่ต้องทำอะไรเลยใช่ไหม พระขี้เกียจนี่ พระสารีบุตรบอก ไม่ใช่ คือพระอรหันต์ทำเป็นปกติเพื่อความเป็นอยู่เป็นสุข..

วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2558

รักพระนิพพาน หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง ตอบปัญหาธรรม

รักพระนิพพาน
หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง ตอบปัญหาธรรม

ผู้ถาม :- กราบเท้าหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง ลูกรักพระนิพพานมาก ก่อนนอนชอบภาวนาว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง แต่ทำสมาธิไม่ดีเลย อย่างนี้ลูกจะไปนิพพานได้ไหมคะ ?

หลวงพ่อ :- คำว่า สมาธิ นี่มันจำเป็น แต่คนถามไม่รู้จักตัวสมาธิ ไอ้ตัวสมาธิเขาแปลว่าตามนึกถึง ถ้านึกถึงนิพพาน เขาเรียกว่าอุปสมานุสสติกรรมฐาน ทีนี้ถ้านึกถึงพระนิพพานอย่างเดียว เรารักพระนิพพาน ภาวนาว่า นิพานัง ปรมัง สุขัง บ้าง นิพพานสุขัง บ้าง นิพพานัง สุขัง บ้าง แต่ว่าก็ต้องดูอารมณ์ใจ ฝึกไว้อีกส่วนหนึ่ง คนที่จะไปนิพพานได้ต้องไม่ห่วงร่างกาย อันนี้ต้องฝึกไว้ด้วยนะ ต้องฝึกไว้ว่า ขึ้นชื่อว่าร่างกายมันเป็นสภาพของความทุกข์ ที่เรามีความทุกข์เกิดขึ้นทุกอย่าง

๑. ความหิว ถ้าเราไม่มีร่างกายมันก็ไม่หิว มันหิวเพราะมีร่างกาย
๒. หนาวเกินไป ร้อนเกินไป ก็เพราะร่างกาย
๓. ป่วยไข้ไม่สบาย ก็เพราะร่างกาย
๔. ต้องมีงานหนัก ก็เพราะร่างกาย
๕. การพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ก็เพราะมีร่างกาย
๖. ความตายมาถึงก็เพราะร่างกาย

ก็ใช้ปัญญาทบทวนไปว่า คนระดับชั้นไหนบ้างที่มีร่างกายไม่ทุกข์ ถ้าเราจะเกิดอีกกี่ชาติ ถ้าเรามีร่างกายอย่างนี้มันก็ทุกข์อย่างนี้ แล้วขึ้นชื่อว่ามีร่างกาย มีขันธ์ ๕ แบบนี้เราจะไม่มีกับมันอีก เราต้องการจุดเดียว คือนิพพาน ทำใจแน่นอนแล้ว ภาวนาว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง ก็ได้ นิพพานัง สุขัง ก็ได้ ต้องคิดอย่างนี้ก่อนแล้วภาวนา คิดแล้วก็ภาวนาต่อไป อย่างนี้ใช้ได้

ถ้าเป็นอย่างนี้เวลาใกล้จะตายจริง ๆ อารมณ์จิตที่เราพิจารณามันจะมารวมตัว มันจะมีความรู้สึกเบื่อหน่ายในร่างกาย และวางเฉยในร่างกาย จะมีความรู้สึกว่า การตายมีความสุขกว่า อย่างนี้ก็ไปนิพพาน

วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

ชายเจ้าชู้ถูกฆ่าตายไปสำนักพระยายมราชแล้วไปเป็นเทวดาชั้นดาวดึงส์ คัดลอกจากหนังสือ ตายไม่สูญ...แล้วไปไหน เรื่องที่ 82 หน้า 192 โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี) วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี

ชายเจ้าชู้ถูกฆ่าตายไปสำนักพระยายมราชแล้วไปเป็นเทวดาชั้นดาวดึงส์
คัดลอกจากหนังสือ ตายไม่สูญ...แล้วไปไหน เรื่องที่ 82 หน้า 192 โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี) วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี

     "..วัน ที่ 16 กันยายน 2531 เวลา 6.00 น. วันนี้ท่านลุงพุฒิ นุ่งผ้าพื้นโจงกระเบนเป็นผ้าไหมสวยมาก ท่านมาตามอาตมาให้ไปที่สำนักงานของท่านเพราะมีเรื่องด่วน อาตมาจึงตามท่านลุงไป พอไปถึงท่านพระยายมราชก็เข้าประจำที่ ท่านเรียกชายคนหนึ่งเข้ามา ขอสมมติว่าชื่อนายจันทร์ การสอบสวนคนนี้แปลกเพราะไม่ผ่านเจ้าหน้าที่สอบสวน ท่านลุงเรียกมาหาท่านโดยตรงคงจะเป็นเพราะเวลามีน้อย ชายคนนี้ผอมหน้าตาซีดเซียว ท่าทางอิดโรยมาก ตอนหลังการสอบสวนแล้วชายผู้นี้ทำภาพเมื่อเป็นมนุษย์ให้ดู เป็นชายล่ำสัน ผิวเนื้อสองสีค่อนข้างขาว มีขี้แมลงวันขนาดเล็กมากอยู่ระหว่างคิ้วทั้งสอง แต่ใกล้คิ้วขวามาก เรื่องไฝหรือขี้แมลงวันใกล้คิ้วขวานี้เป็นสัญลักษณ์บอกว่า เป็นคนที่ได้รับความเมตตาจากผู้หญิงมาก ตามีเสน่ห์หรือมองหญิงแล้วหญิงงงทุกราย ชายคนนี้ก็มีกรรมอย่างนี้เหมือนกัน เธอตายเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2531 บ้านอยู่อีสานแต่มาทำงานกรุงเทพฯ ตายเพราะอุบัติเหตุคือ ถูกตียัดกระสอบตาย เพราะความมีเสน่ห์ของเธอ ปกติสาวชอบมาหา เธอก็เมตตาทุกราย

     และ ที่เหตุร้ายเกิดขึ้นถึงตายก็เพราะไปยุ่งกับสาวคือ เมียของนายเข้าถึงต้องตายและศพก็ถูกยัดใส่กระสอบฝังดินกลางทุ่งนา ไกลตาคนไปพบเห็น เสน่ห์มากก็มีภัยอย่างนี้ อาตมาถามเธอว่า "ทำไมทำรุ่มร่ามอย่างนี้" เธอตอบว่า "เห็นใจหญิงเธอมีความต้องการ ถ้าไม่ได้ตามความประสงค์เธอก็กลุ้ม" ถามว่า "เข้ามากรุงเทพฯ ทำงานอะไร" เธอตอบว่า "ทำทุกประเภท ก่อนตายทำงานรับจ้างเป็นงานก่อสร้าง นายเธอไม่ใช่ผู้รับเหมาแต่รับช่วงของงานมา เห็นจะเป็นหัวหน้าหน่วยงาน นายเอาเธอไปใช้ที่บ้าน เห็นทำงานคล่องและสุภาพเรียบร้อย ความสุภาพและงานดีทำให้เป็นคนมีเสน่ห์ หญิงในบ้านทุกคนเมตตามีความสุข ในที่สุดเมียนายก็เมตตาด้วย เป็นเหตุให้ได้เงินใช้มากขึ้นเพราะเมียนายเมตตานี่เอง ในที่สุดก็กลายเป็นผี"

     เมื่อ ท่านลุงเรียกเข้าไป รูปร่างหน้าตาของเธอเลอะเทอะเหมือนถูกทูบตีแบบยับเยิน ท่านลุงถามว่า "เอ็งชอบไปยุ่งกับลูกเขาเมียเขาใช่ไหม" เธอตอบว่า "ใช่" ท่านลุงถามว่า "ทำไมถึงทำเช่นนั้น" เธอตอบว่า "เห็นใจหญิง เมื่อเธอมาหาแล้วก็ไม่อยากให้เธอผิดหวัง" ท่านลุงบอกว่า "เอ็งมีบาปแต่เวลาเอ็งไปฝึกกรรมฐาน เอ็งบอกให้ข้าเป็นพยานทุกคราว ต่อไปถ้าขอให้ข้าเป็นพยานละก็ จงอย่าทำบาปนะ มันผิดระเบียบของเขา แต่เมื่อให้เป็นพยานก็จะเป็นพยานให้" ท่านพูดต่อไปว่า

ลูกศิษย์ที่ใจบุญแต่เจ้าชู้


     1) เสาร์ อาทิตย์ จันทร์ ต้นเดือน เอ็งไปรับศีลแปดและปฏิบัติศีลแปดตลอด 3 วันใช่ไหม เธอตอบว่า "ใช่"

     2) เธอถวายสังฆทานถังเล็กถังละ 100 บาท รวม 17 ถังใช่ไหม เธอตอบว่า "ใช่" จากนั้นภาพสังฆทานถังเล็กก็ปรากฎตั้งเป็นแถว

     ท่าน ลุงบอกว่า "เท่านี้พอแล้วเอ็งดีมาก แต่เอ็งทำบาปวันอื่นนอกจากนั้นเล่นกาเมนอกบ้านทุกวัน เอ็งมีบาปมาก เอ็งเคยฆ่าปลา กบ เขียด งู ไก่ โกหกก็เก่ง พบสาวโสดหรือสาวมีผัวรูปร่างต้องใจเมื่อไรเป็นโกหกทุกที กลับมาบ้านยังโกหกเมียอีก ลักขโมยเธอไม่เป็น สุราเมรัยดื่มนิดหน่อยแต่มันก็เป็นบาปเขาต้องเอาลงนรก"

     พอ ท่านลุงพูดจบ เธอทำท่าจะล้ม ท่านลุงเตือนให้ยืนตรง ๆ แล้วบอกว่า "ข้ายังพูดไม่จบเลย ทำท่าจะตายแล้ว ให้พูดจบก่อนซิ" แล้วท่านก็พูดต่อไปว่า "เมื่อเอ็งให้ข้าเป็นพยานบุญ ข้าก็ต้องเป็นและเบิกความให้ ข้าเป็นพยานให้แล้ว ถวายสังฆทานและรักษาศีลแปดเดือนละ 3 วัน ศีลขาดเดือนละ 27 วัน เจริญกรรมฐานเดือนละ 3 วัน ทำกาเมเดือนละ 27 วัน ไม่เลือกกลางวันหรือกลางคืน ในเมื่อมีอารมณ์เศร้าหมองสลับกับอารมณ์แจ่มใส บุญอย่างนี้ปกติไปอยู่ชั้นนิมมานรดี แต่เพราะศีลขาดมากกว่าศีลดี จิตผ่องใสน้อยกว่าจิตเจ้าชู้ วิมานเอ็งอยู่แค่ดาวดึงส์ เอ็งไปรับผลของความดีก่อนตามกำลังบุญของเอ็งก็แล้วกัน" เมื่อเธอได้ฟังอย่างนั้น รู้สึกว่าร่างกายผ่องใสขึ้นทันที สวยขึ้น ๆ ในที่สุดก็แต่งกายเป็นเทวดาสวยงามมาก ท่านลุงจึงให้เทวทูตนำไปส่งที่วิมานของเธอ

     เมื่อ เสร็จภารกิจของท่านลุงแล้ว ท่านก็มาพูดว่า ที่ท่านไปตามอาตมามาในยามเช้าก็เพราะชายผู้นี้เนื่องกับอาตมาคือเป็นลูก ศิษย์ที่ใจบุญแต่เจ้าชู้.."